posttoday

พลเมืองดีฟังไว้! กฎหมายชี้ผู้พบความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่แจ้งจนท.

04 กุมภาพันธ์ 2561

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ระบุชัดผู้พบเห็นความรุนเเรงในครอบครัวมีหน้าที่เเจ้งจนท.

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ระบุชัดผู้พบเห็นความรุนเเรงในครอบครัวมีหน้าที่เเจ้งจนท.

กรณีคลิปผู้ชายทำร้ายผู้หญิงและเด็กกลางถนน ซึ่งต่อมาชายคนดังกล่าวได้ยอมรับผิดว่า ความรุนเเรงที่เเสดงออกเกิดจากความเครียด ความกดดัน ปัญหาในครอบครัว ทำให้ขาดสติ โดยผู้หญิงที่ทำร้ายนั้นคือภรรยา คนชราคือแม่ เเละเด็กคือลูกของตนเอง

นอกเหนือจากปัญหาครอบครัวเเล้ว สิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เเละถกประเด็นตั้งคำถามกัน คือการเข้าช่วยเหลือหากพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเข้า โดยบางคนมองว่าการเป็นพลเมืองดีในปัญหาครอบครัว สุดท้ายอาจเกิดอันตรายกับตนเอง

โพสต์ทูเดย์เปิดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวพบว่ามีปรากฎในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550

กฎหมายระบุไว้ว่า ผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำรุนเเรงในครอบครัว มีหน้าที่เเจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำ มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้ที่มีหน้าที่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบถึงความรุนแรงดังกล่าวได้แก่

1. ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

2. ผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำ

โดยกฎหมายมาตรานี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

แต่กฎหมายก็ไม่ได้มีมาตรการบังคับถึงการไม่แจ้งดังกล่าวแต่อย่างใด และวิธีการแจ้งต่อพนักงาน ผู้ที่ทำการแจ้งจะแจ้งโดยวาจา เป็นหนังสือ หรือทางโทรศัพท์ ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นใดก็ได้ สุดแล้วแต่ความสะดวกของผู้แจ้ง อีกทั้งเมื่อเป็นการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวโดยสุจริต ก็ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง แม้ภายหลังจะปรากฏว่าเรื่องที่แจ้งนั้นไม่ใช่ความรุนแรงก็ตาม

ทั้งนี้สำหรับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา 4 ของกฎหมายระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  

 

พลเมืองดีฟังไว้! กฎหมายชี้ผู้พบความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่แจ้งจนท. ภาพจาก เฟซบุ๊กเเหม่มโพธิ์ดำ

 

 

-------------------------

อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.สํานักกฎหมายนิติศาสตร์ขาดรัก.com