posttoday

"อัยการปรเมศวร์"เปิดความผิดอาญา-แพ่ง ตร.โบกสิบล้อจนเกิดอุบัติเหตุ

31 มกราคม 2561

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เผยคดีตร.โบกสิบล้อ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-ประมาท มีความผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เผยคดีตร.โบกสิบล้อ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-ประมาท มีความผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 30 ม.ค. กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุรถบรรทุกขับชนรถยนต์ของ อรวี ชูชื่น หรือฮาวา จนเธอพุ่งไปชนคันด้านหน้าอีกที ได้รับบาดเจ็บ โดยสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงโบกเรียกให้รถบรรทุกหยุด

เนื้อหาระบุว่า

ประการแรกภารกิจของตำรวจทางหลวงคืออะไร คำตอบ อำนวยความสะดวกในการใช้ถนนทางหลวงแผ่นดิน ป้องกันการกระทำความผิดของผู้ใช้ทางหลวง และสุดท้ายปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดทุกชนิดบนทางหลวง

ถ้าจะไม่ให้สิบล้อทำผิดกฎหมายโดยวิ่งชิดซ้าย วิธีป้องกันคือตำรวจทางหลวงต้องไปอยู่ริบขวาของถนนเพื่อให้สิบล้อมองเห็น เขาจะได้หลบไปทางซ้าย ถ้าจะจับก็ไปรอโบกจับให้มันไกลไปอีกนิด และเวลาจะตั้งด่านตรวจก็เปิดไฟวาบบนหลังคาบอกชาวบ้านเขาหน่อยน่าจะดีกว่า

แต่นี่กลับไปยืนกลางถนนที่ทำให้คนขับรถมองไม่เห็น ใช่ครับเป็นดุลยพินิจของตำรวจทางหลวงตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ศาลฎีกาเคยวางแนวไว้ว่า “การใช้ดุลพินิจที่ไม่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย”

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๐๙/๒๕๔๙)

เมื่อกลับมาพิจารณากรณีตำรวจทางหลวงในเรื่องนี้ เห็นว่าการตั้งจุดตรวจหรือตั้งด่านลอย และเดินไปกลางถนนราวกับเป็นเจ้าของถนน ย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนได้โดยง่าย ทั้งยังเป็นการประมาทปราศจากความระมัดระวัง

จึงฟันธงลงไปเลยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และเมื่อเกิดเหตุจนทำให้ “น้องนักร้องอรวี” ได้รับบาดเจ็บก็เป็นความปิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้อื่นได้รับบาดเจ็บ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ด้วยอีกฐานหนึ่ง และเมื่อปรากฏว่าน้องอรวีไปแจ้งความว่ามีตำรวจอยู่บนถนนที่เป็นต้นเหตุแห่งความเสียหาย แต่ร้อยเวรที่รับแจ้งกลับไม่ยอมจดแจ้งให้ตามที่ผู้เสียหายแจ้ง เพราะได้รับการขอร้องจากตำรวจทางหลวงทั้งนายตามข่าว

ร้อยเวรก็มีความผิดตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒(๓) ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร ละเว้นไม่จดแจ้งข้อความที่ตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความ ส่วนคนที่ขอร้องไม่ให้จดว่ามีตำรวจเกี่ยวข้อง มีความผิดฐานก็มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน นี่ความรับผิดทางอาญา

ส่วนความรับผิดทางแพ่งทั้งสองนายและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดในความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โดยไม่ต้องฟ้องตำรวจทั้งสองก็ได้ครับ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปว่ากล่าวกันเอาเอง