posttoday

ศาลยกฟ้องคดี9พนักงานท่าเรือฟ้อง "ดีเอสไอ-การท่าเรือ"กรณีตรวจสอบทุจริตโอที

22 มกราคม 2561

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง "ดีเอสไอ- กทท."ชั้นตรวจคำฟ้อง คดี 9 พนักงานท่าเรือ ฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบตรวจสอบทุจริตโอที ชี้เป็นการตรวจสอบตามขั้นตอน

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง "ดีเอสไอ- กทท."ชั้นตรวจคำฟ้อง คดี 9 พนักงานท่าเรือ ฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบตรวจสอบทุจริตโอที ชี้เป็นการตรวจสอบตามขั้นตอน

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซ.สีคาม ถ.นครไชยศรี ศาลนัด ฟังคำสั่งคดีในชั้นตรวจคำฟ้องที่ 9 พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.อ.พินิจ ตั้งสกุล ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีทุจริตเบิกจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้า หรือโอที ของ กทท. , ร.ต.ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รอง ผอ.กทท. รักษาการแทน กทท. และนายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผอ.ท่าเรือกรุงเทพ  กทท. เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่จำเลยได้ตรวจสอบเรื่องความผิดปกติการเบิกจ่ายโอทีการท่าเรือฯ และมีการแถลงข่าวที่ได้สรุปว่ามีการร่วมกันสนับสนุนการเบิกจ่าย มูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท โดยเสนอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งพนักงาน กทท.เห็นว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวจึงนำคดีมายื่นฟ้อง

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 องค์คณะคดีนี้ ได้อาศัยอำนาจตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตฯ ให้มีหนังสือถึง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา , ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดของพนักงาน กทท. และกรณีที่มีการใช้เอกสารเกี่ยวกับโอทีนั้นไปยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อเรียกร้องสิทธิเบิกจ่ายโอที รวมทั้งเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลในการมีคำสั่ง

กระทั่งองค์คณะฯได้พิจารณาคำฟ้องและเอกสารประกอบคดีแล้ว วันนี้ (22 ม.ค.) จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง ในชั้นตรวจคำฟ้องนี้  

ภายหลัง นายกฤษณะ อินทามร ทนายความของ พนักงาน กทท.โจทก์ เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการสอบสวนของดีเอสไอตั้งแต่ปี 2556 จนถึงการแถลงข่าวเกี่ยวกับคดีเมื่อปี 2560 นั้น เป็นไปตามขั้นตอนซึ่งยังไม่ได้มีการยืนยันถึงตัวโจทก์ทั้งเก้าอย่างชัดแจ้ง เพียงแต่มีการสรุปจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนต่อไปโดยยังไม่ได้ระบุชัดว่าบุคคลใดบ้าง ร่วมกันอย่างไร ขณะที่ ป.ป.ช. ดูสำนวนแล้วก็ส่งกลับมาให้ดีเอสไอสอบสวนถึงพฤติการณ์ให้ชัดแจ้ง ขณะที่กระบวนการยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับตัวโจทก์ทั้งเก้าแต่อย่างใด ดังนั้นศาลจึงเห็นว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

"การฟ้องครั้งนี้ ต้องการป้องกันสิทธิของเรา ซึ่งก่อนหน้านี้เรื่องของโอที เคยมีการฟ้องกันไว้ที่ศาลแรงงานกลาง โดยพนักงาน กทท. ได้ฟ้องเรียกร้องสิทธิการจ่ายโอที , โอทีวันหยุด และค่าทำงานวันหยุด ซึ่งศาลแรงงานกลาง เคยมีคำพิพากษาให้พนักงานฯ 309 คนได้สิทธิรับเงินทั้ง 3 จำนวน รวมประมาณ 400 ล้านบาท ขณะที่คดียังมีการฟ้องกันอีกหลายชุด ซึ่งบางส่วนก็มียกฟ้อง บางส่วนศาลก็พิพากษาให้เงินค่าทำงานวันหยุด โดยโจทก์ 9 คนก็ร่วมฟ้องด้วยแต่คดีในศาลแรงงานกลางยังไม่ถึงที่สุด โดยการสอบสวนดีเอสไอก็ไม่ได้รอฟังผลฎีกาของคดีในศาลแรงงานกลางเสียก่อน ทั้งนี้หากในการสอบสวนมีการดำเนินแจ้งข้อกล่าวหามิชอบ หรือรบกวนสิทธิและพนักงานที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่เราก็จะใช้สิทธิฟ้องคดีใหม่โดยจากนี้จะพิจารณาแนวทางยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกฟ้องของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ด้วย"นายกฤษณะ กล่าว