posttoday

รมช.ยักษ์เอา"จอบมื้อแรก"คืนป่าต้นน้ำน่าน

20 มกราคม 2561

รมช.เกษตรและสหกรณ์นำทีม"เอาจอบมื้อแรก"ฟื้นฟูป่าน่านคืนต้นน้ำด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

รมช.เกษตรและสหกรณ์นำทีม"เอาจอบมื้อแรก"ฟื้นฟูป่าน่านคืนต้นน้ำด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน เอามื้อจอบแรกที่น่านตาม“ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนคืนป่าต้นน้ำด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้นและป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมีภาคีเครือข่ายและแกนนำชาวบ้านที่สนใจจะปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำทฤษฎีใหม่ประยุกต์เข้าร่วมกว่า 600 คน ณ ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.นาน้อย จ.น่าน

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำ 13 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาประสบภาวะวิกฤติอย่างหนัก จากการถูกทำลายเป็นพื้นที่กว่า 8.6 ล้านไร่ และมีราษฎรอาศัยอยู่ในพื้นที่กว่า 8 แสนราย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการหาทางแก้ไข แต่จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม อีกทั้งพบว่ามีการใช้สารเคมีจำนวนมากในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดปัญหาการไหลเปื้อนของสารเคมีจากยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงสู่พื้นที่ราบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาดังกล่าวและมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 เรื่องแนวทางการจัดการป่าเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น)

ทั้งนี้ได้ใช้ 3 แนวทางในการกอบกู้วิกฤติการณ์ดังกล่าว คือ 1. การควบคุมดูแลพื้นที่ 2. การดูแลคน และ 3.การพัฒนาด้านการเกษตร ภายใต้ “ยุทธศาสตร์การบูรณาการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน”

โดยวางเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพที่สูงชันอย่างยั่งยืน และวางเป้าหมายในการดำเนินการ 4 ด้าน คือ 1. ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้าเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 20 ปี 2.พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในพื้นที่สูงให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ 3. เร่งสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4.ลดมูลค่าความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้สำเร็จตามเป้าหมายให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ นายวิวัฒน์ กล่าวถึงแผนดำเนินการด้วยว่าภาคีเครือข่ายและชาวบ้านในชุมชนเป็นกลไกลสำคัญในการกอบกู้วิกฤติดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพในพื้นที่เขาหัวโล้น ซึ่งการจัดกิจกรรม “เอามื้อ...จอบแรก รักเธอเสมอดาว” ที่ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่านในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวมตัวของทุกภาคส่วน ทุกคนอาสามาร่วมลงแรงจับจอบสร้างระบบน้ำในพื้นที่เขาหัวโล้นตามหลักการออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำ ซึ่งระบบดังกล่าวเกษตรกรหลายพื้นที่ได้นำไปทำแล้วพบว่าประสบผลสำเร็จสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างน้อย 3 เท่า สามารถปลูกพืชผักสร้างความพอมี พอกินในครัวเรือน และประสานภาคเอกชน ยกระดับมาตรฐาน พัฒนาเป็นสินค้าชุมชนจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด สามารถลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว คืนผืนป่ากลับมาได้เนื่องจากใช้พื้นที่น้อยลงเป็นการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามศาสตร์พระราชา ป่าสมบูรณ์ขึ้นเพราะมีการกักเก็บน้ำจากการขุดร่องน้ำตามความลาดชัน และเก็บน้ำให้ซึมซับลงดินให้มากที่สุด

รมช.วิวัฒน์กล่าวว่าการเอาจอบมื้อแรกเป็นการยืนยันว่าคนน่านจะทวงเกียรติภูมิคืนเพราะถูกกล่าวหาว่าทำลายป่า จากนี้คนในชุมชน7ภาคีจะร่วมกันวางแผนออกแบบชุมชนรักป่า การมุ่งปลูกป่า3อย่าง ประโยชน์4อย่างคืนความสมบูรณ์ให้ป่าน่าน.

รมช.ยักษ์เอา"จอบมื้อแรก"คืนป่าต้นน้ำน่าน

รมช.ยักษ์เอา"จอบมื้อแรก"คืนป่าต้นน้ำน่าน