posttoday

อพท.บูมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่ตลาดนานาชาติ

20 มกราคม 2561

อพท. จับมือ AEN บูมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่พิเศษ ใช้จุดแข็งเชิงนิเวศน์ตีปี๊บเข้าสู่ตลาดระดับนานาชาติ

อพท. จับมือ AEN บูมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่พิเศษ ใช้จุดแข็งเชิงนิเวศน์ตีปี๊บเข้าสู่ตลาดระดับนานาชาติ

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับ นายมาซารุ ทาคายาม่า ประธานและผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าท่องเที่ยวเครือข่ายเชิงนิเวศเอเชีย (Asian Ecotourism Network - AEN) ในโอกาสการประชุมใหญ่ประจำปีนัดแรกหลังการตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการได้มีหารือถึงความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีผู้บริหารจาก อพท. และ AEN ร่วมในพิธี ณ ชั้น 31 อาคารทิปโก้ ถนนพระรามที่ 6

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เผยว่า อพท. และAEN มีแผนการทำงานร่วมกันในด้านการส่งเสริม และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อให้เกิดกระแสการรับรู้กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษออกไปในวงกว้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันทำงานอันจะนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกันในเร็วๆนี้

สำหรับ แนวทางความร่วมมือระหว่าง AEN กับ อพท. ในปี 2561 จะมี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.การใช้ศักยภาพของ AEN ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว

2. การใช้เครือข่ายที่กว้างขวางและหลากหลายของ AEN ในการช่วยสนับสนุนภารกิจของ อพท. ในการออกแบบหลักสูตรและการเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบการฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เป้าหมายของ อพท.

3. การประชาสัมพันธ์เชิงรุกโดยการเชิญ Bloggers ที่เป็นเครือข่ายของ AEN ลงพื้นที่เป้าหมายของ อพท. เพื่อทำกิจกรรมท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น

และ4.อพท. จะสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำหรับแหล่งท่องเที่ยวและที่พักในพื้นที่เป้าหมายของ อพท.

นายมาซารุ ทาคายามะ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง AEN กล่าวว่า วันนี้ AEN สถานะทางกฎหมายครบถ้วน โดยได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว เบื้องหลังความสำเร็จนี้ AEN ต้องขอขอบคุณ อพท. ที่คอยช่วยเหลือและประสานงานในด้านต่างๆ ทำให้ AEN มีสถานะเป็นที่ยอมรับอย่างถูกต้องตามกฏหมาย โดยภายหลังจากนี้ไป AEN และ อพท. จะยังคงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือเชิงนิเวศ มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมองว่า กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษที่ อพท. พัฒนาขึ้นมานั้นล้วนเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แทบทั้งสิ้น และมีศักยภาพน่าสนใจที่สามารถนำไปต่อยอดทางการตลาดได้

“AEN และ อพท. เคยร่วมกันพัฒนาโครงการ Cast Away @ Koh Mak จนประสบความสำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเกาะหมาก กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวรู้จักแพร่หลายในหลายๆประเทศ และจากความสำเร็จที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าจะนำไปขยายผลไปสู่พื้นที่พิเศษอื่นๆของ อพท. ให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศได้เช่นกัน”นายซามารุกล่าว

สำหรับ AEN เป็นการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนนำเที่ยว ผู้ประกอบการ NGO สถาบันการศึกษา และนักวิชาการ รวม 18 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ศรีลังกา ลาว เกาหลีใต้ บังกลาเทศ ปากีสถาน ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย อินโดนีเซีย ภูฏาน อินเดีย เนปาล ฮ่องกง ไต้หวัน และกัมพูชา จุดประสงค์การรวมกลุ่มเพื่อเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเอเชีย เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ฐานข้อมูล และเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยว ระหว่างกันในกลุ่มเครือข่าย