posttoday

สสส.พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ

18 มกราคม 2561

รองนายกฯชู“โรงเรียนผู้สูงอายุ”กลไกยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยสสส.ลุยต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตวัยหลังเกษียณทั้งในชุมชนท้องถิ่นและชุมชนเขตเมืองกว่า300แห่ง

รองนายกฯชู“โรงเรียนผู้สูงอายุ”กลไกยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยสสส.ลุยต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตวัยหลังเกษียณทั้งในชุมชนท้องถิ่นและชุมชนเขตเมืองกว่า300แห่ง

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.61 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : โรงเรียนผู้สูงอายุและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุและกล่าวปาถกฐา “นโยบายพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ” โดยมีแกนนำผู้สูงอายุ ผู้รับผิดชอบโรงเรียนผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และพื้นที่ที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ 55 ชุมชน กว่า 200 คนที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

พลเอก ฉัตรชัย กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ในพื้นที่ต่างๆ 2,600 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 3 ปี และได้สั่งการให้มีการทบทวนแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของผู้สูงอายุ และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะเป็นการปรับแผนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้สูงอายุ โดยเร็วๆนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ พม. ร่วมหารือและกำหนดเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุร่วมกัน

ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในปี 2559 มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60ปีขึ้นไป จำนวน 10.9 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมดซึ่งคาดว่าไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุที่เป็นตัวอย่างที่ดีกับพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงาน รวมถึงนำเสนอรูปแบบกิจกรรมที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนผู้สูอายุได้ เช่น กิจกรรมทางกาย โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมดนตรี และนันทนาการ ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับภาคนโยบาย และการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน กว่า 300 แห่ง

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า การศึกษาวิจัย เรื่อง“การถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนและชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้” โดย ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์  ยอดเพชร และคณะ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็น ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพหรือมีภาวะพฤฒิพลัง (Active Aging) เพื่อเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงอายุของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาคลอบคลุมบริบททั้ง กาย จิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ปัญญา และความสุข อย่างไรก็ตามพบว่าปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุจำนวนมากทั่วประเทศ ที่มีความหลากหลายทั้งสถานที่ รูปแบบ และวิธีการ ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่และความต้องการของผู้สูงอายุในแต่และแห่ง โดยเริ่มจากกระบวนการศึกษา ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จ และนำมาต่อยอดดำเนินงาน เพื่อพัฒนาเป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุที่เหมาะสมต่อไป