posttoday

แพทย์ชี้เด็ก 4 ขวบเก่งอังกฤษเพราะมือถือไม่น่ายกย่อง-เสี่ยงออทิสติกเทียม

17 มกราคม 2561

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ชี้ชัดเด็ก4ขวบเก่งอังกฤษเพราะมือถือไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เเละเสี่ยงต่อภาวะออทิสติกเทียม

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ชี้ชัดเด็ก4ขวบเก่งอังกฤษเพราะมือถือไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เเละเสี่ยงต่อภาวะออทิสติกเทียม

กรณีโลกออนไลน์พากันให้ความสนใจเรื่องราวของเด็กหญิงวัย 4 ขวบรายหนึ่งในจังหวัดสกลนคร ที่ครอบครัวบอกว่า เด็กมีความสามารถพิเศษพูดภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากปล่อยให้เล่นโทรศัพท์ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเรื่องนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายเเง่มุม

พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นบอกกับโพสต์ทูเดย์ว่า ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีหรือชื่นชม เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่ออิเล็คทรอนิกส์มากจนเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กในอนาคต และต้องรีบพาเด็กไปพบเเพทย์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเเละพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างเร่งด่วนด้วยซ้ำ

"การปล่อยให้มือถือกลายเป็นพ่อแม่ของเด็กไม่ใช่เรื่องที่ดี อุปกรณ์พวกนี้เป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่ใช่วิธีการสอนเเละส่งเสริมการเรียนรู้ที่ถูกต้อง หน้าจอมันไม่สามารถตอบโต้ ชี้ถูกผิดหรือบอกความหมายของสิ่งต่างๆ ให้เขาเข้าใจ เขาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษได้ เรียกว่าพูดภาษายูทูปได้เท่านั้น"

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกว่า กุมารเเพทย์ทั่วโลกชี้ว่า เด็กตั้งเเต่เเรกเกิดถึง 2 ปี ไม่ควรสัมผัสกับหน้าจอเเละอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ใดๆ ทั้งสิ้น

"เด็กเล็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เห็นคือชีวิตจริงหรือชีวิตเสมือนในจอ เเละทำให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมีปัญหา เช่น หากเขาอารมณ์ไม่ดีก็จะไม่ตอบโต้กับผู้อื่นเเละอยู่ในโลกส่วนตัวของเขา ผลเสียคือ ทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ช้าลงโดยเฉพาะด้านภาษา"

สิ่งที่น่ากลัวเมื่อปล่อยให้เด็กเล็กอยู่กับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์มากเกินไป คือ ภาวะออทิสติกเทียม ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ การมีปฏิสัมพันธ์และทักษะทางสังคมบกพร่อง

"เด็กกลุ่มนี้ไม่สบตาคนที่พูดด้วยแบบมีความหมาย และจะพูดภาษาของตัวเอง ทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคมและเรียนรู้ ”

พญ.กุลนิดา ทิ้งท้ายว่า การใช้สื่ออิเล็คทรอนิกส์เพื่อเเก้ปัญหาสภาพเเวดล้อมในครอบครัวเช่น ไม่มีเวลาหรือต้องการให้ลูกเงียบ เป็นการแก้ปัญหาเพียงระยะสั้นเท่านั้น เเต่ระยะยาวส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเด็กเเละพ่อแม่เอง

"พ่อแม่ควรอยู่กับลูกมีการโต้ตอบและใช้ของเล่นเสริมพัฒนาทั่วไปมาใช้ในการเลี้ยงดู การปล่อยให้เขาอยู่กับมือถือ ระยะยาวจำนวนมากพบว่า มีเคสที่คุณครูไม่รับเข้าโรงเรียนอนุบาลเพราะยังสื่อสารไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสทองในการพัฒนาศักยภาพอย่างถูกต้องไป"