posttoday

โลกร้อนทำให้เต่าตนุเปลี่ยนเพศ

17 มกราคม 2561

ไอยูซีเอ็นเผยงานวิจัยชี้โลกร้อนทำเต่าตนุเปลี่ยนเพศสภาพจากตัวผู้กลายเป็นตัวเมีย-รองคณบดีประมงฯ ม.เกษตร คาดเต่าไทยก็มีปัญหา

ไอยูซีเอ็นเผยงานวิจัยชี้โลกร้อนทำเต่าตนุเปลี่ยนเพศสภาพจากตัวผู้กลายเป็นตัวเมีย-รองคณบดีประมงฯ ม.เกษตร คาดเต่าไทยก็มีปัญหา

เมื่อวันที่ 17 ม.ค.  นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยงานวิจัยที่เป็นความร่วมมือระหว่าง NOAA California State University และ WWF Australia ระบุว่าจากปรากฏการณ์โลกร้อน ทำให้ประชากรเต่าตนุ ในเกรท แบริเออ รีฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปะการังอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก ในประเทศออสเตรเลีย ได้เปลี่ยนเพศสภาพจากเต่าตัวผู้กลายเป็นตัวเมียเกือบทั้งหมด หรือ ราว 99% แล้ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลว่า สัดส่วนระหว่างเพศที่ผิดปกติเช่นนี้จะคุกคามประชากรเต่าทะเลในอนาคตอันใกล้

นายเพชร กล่าวว่า งานวิจัยนี้ ได้ศึกษาประชากรเต่าที่มีลักษณะแตกต่างทางพันธุกรรมสองกลุ่มใน เกรท แบริเออ รีฟ แล้วพบว่าประชากรเต่าตนุทางตอนเหนือ ซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 2 แสนตัวในปัจจุบันเป็นตัวเมียเป็นส่วนใหญ่ โดยลูกเต่าและเต่าวัยรุ่นทั้งหมดเป็นตัวเมียกว่า 99% ในขณะที่ตัวเต็มวัยก็เป็นตัวเมียถึง 87% ในขณะที่ประชากรทางตอนใต้ก็มีสัดส่วนตัวเมียเกือบ 70%

"นักวิทยาศาสตร์ พบว่า หากอุณหภูมิของหาดทรายต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะฟักออกมาเป็นตัวผู้ แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าที่ฟักออกมาจะเป็นตัวเมีย แต่หากอุณหภูมิอยู่ระหว่างช่วงดังกล่าว  จะทำให้ได้ลูกเต่าทั้งสองเพศผสมกันไป  และยิ่งอุณหภูมิของหาดทรายสูงขึ้นเท่าไหร่ สัดส่วนของเต่าตัวเมียต่อเต่าตัวผู้ก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น จากข้อมูลเต่าทะเลและอุณหภูมิในปัจจุบัน พบว่า ประชากรเต่าทะเลทางตอนเหนือของ เกรท แบริเออ รีฟ ขยายพันธุ์ออกมาเป็นตัวเมียเป็นส่วนใหญ่มาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว และเป็นไปได้ว่าประชากรเต่าทะเลกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นตัวเมียทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” นายเพชรกล่าว

ด้าน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะเต่าตนุมีแต่ตัวเมีย ไม่ได้มีเฉพาะที่ เกรท แบริเออ รีฟ เท่านั้น ที่เกาะตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเต่าตนุมากที่สุดในพื้นที่แถบนี้ ก็มีปัญหานี้เช่นกัน โดยที่ผ่านมาพบว่า เต่าตนุที่เกาะตรังกานูไม่มีตัวผู้เลย สาเหตุมาจากอุณหภูมิของทรายในธรรมชาติที่เต่าใช้วางไข่นั้นสูงเกินไป รวมทั้งไข่เขาที่นำไปฟักไม่มีการควบคุมอุณหภูมิให้ดีพอ สำหรับประเทศไทยแม้ไม่เคยตรวจเพศเต่าอย่างเป็นทางการ แต่ก็คาดว่ามีปัญหานี้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กรมสิ่งแวดแวดล้อมและคุ้มครองมรดกทางธรรมชาติ ของรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ได้พยายามทดสอบมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิของหาดทรายซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เช่น การทำที่บังแดด หรือแม้แต่ฝนเทียมเพื่อลดอุณหภูมิของชายหาด อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดว่าในแง่การปฏิบัติที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางอย่าง เกรท แบริเออ รีฟ อยู่

ที่มาภาพ ไอยูซีเอ็น