posttoday

กลุ่มคนรักบ้านเกิดเพชรบุรีทวงปมยื่นค้านโรงไฟฟ้าขยะ

17 มกราคม 2561

กลุ่มคนรักบ้านเกิดเพชรบุรีทวงนายกฯปมยื่นคัดค้านสร้างไฟฟ้าพลังานขยะชี้ไม่มีความจำเป็นอยู่ใกล้แห่งน้ำชุมชนกระทบพื้นที่เกษตรแฉใครอกมาต้านเจอภัยคุกคาม

กลุ่มคนรักบ้านเกิดเพชรบุรีทวงนายกฯปมยื่นคัดค้านสร้างไฟฟ้าพลังานขยะชี้ไม่มีความจำเป็นอยู่ใกล้แห่งน้ำชุมชนกระทบพื้นที่เกษตรแฉใครอกมาต้านเจอภัยคุกคาม

นายธีระศักดิ์ เพชรสุก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด พร้อมชาวบ้านกลุ่มคนรักบ้านเกิดจังหวัดเพชรบุรีร้องเรียนสื่อมวชน ทวงถามถึงความคืบหน้ากรณีเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พ.ย.60 คัดค้านบริษัทเอกชนเตรียมลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะหลังวัดเขาทะโมน ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ให้กับบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป

สำหรับเหตุผลสำคัญในการคัดค้านหลายประการ อาทิเช่น สถานที่ที่กำลังดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะนั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้กับเขตชุมชน วัด โรงเรียน และวิทยาลัยการอาชีพบ้านลาด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งตามหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ต้องไม่อยู่ในระยะ  300 เมตรจากพื้นที่ชุมชน

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พื้นที่ซึ่งขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างมีขนาดราว 40 ไร่ ไม่น่าจะเพียงพอต่อการก่อสร้างอาคารโรงงาน พื้นที่ใช้สอยรอบๆ ตัวอาคาร บ่อบำบัดน้ำเสีย อีกทั้งโดยรอบของพื้นที่ที่ขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างโรงงานเป็นลำห้วยสาธารณะและพื้นที่เกษตรด้วย จนอาจส่งผลให้ต้องไปเบียดบังน้ำของเกษตรกรในพื้นที่ที่จะต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ทำนาข้าว และเริ่มมีการทำเกษตรอินทรีย์บางส่วนตามนโยบายรัฐบาล รวมไปถึงน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วย

หนังสือร้องเรียนยังระบุอีกว่า พื้นที่ของ บริษัท ที่ขอใช้เป็นโรงงานกำจัดขยะนั้นมิได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขยะมูลฝอยในจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.2559 – 2560 และแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดเพชรบุรีปี 2558 – 2562 ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 ส.ค.60 ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี โดยให้เหตุผลประกอบว่า โรงงานแปรรูปขยะเป็นกระแสไฟฟ้าที่อยู่เดิม 1 โรง ที่ อ.ท่ายาง มีกำลังความสามารถสูงกว่าปริมาณขยะภายใน จ.เพชรบุรีที่มากเพียงพออยู่แล้ว แต่ประชาชนที่ลงชื่อคัดค้านในครั้งนั้นกลับถูกข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เกิดความหวาดกลัวว่า การแสดงตนออกมาคัดค้านนั้นมีความผิด แต่กลับไม่แจ้งความผิดที่ชัดเจน หรือไม่แจ้งข้อกล่าวหา เข้าข่ายการใช้อำนาจรัฐข่มขู่คุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่

“ชาวบ้านในพื้นที่ต่างมีความหวังว่า รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะคลี่คลายปัญหาในเรื่องนี้ไม่ให้ลุกลามบานปลายใหญ่โตได้ เพราะในอนาคตหากเกิดปัญหาเรื่องมลพิษมีต้นเหตุมาจากการบริหารจัดการขยะของบริษัทที่ขาดคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ และไม่ได้มาตรฐานในระดับสากล คงไม่มีผู้มีอำนาจในรัฐบาลนี้คนใดอยากถูกพิพากษาหรือถูกจารึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้บ้านเมืองนี้เกิดความเสียหายไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมจากการถูกกดขี่ข่มเหง แต่ข้าราชการตงฉินบางคนที่ไม่ยอมทำตาม ก็ถูกย้ายแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกด้วย” หนังสือร้องเรียน ระบุ

ด้าน นายชัชวาล สุขเมือง อายุ 39 ปี หมู่ 9 ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีใครทราบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ ซึ่งเป็นการตั้งข้อสงสัยว่ามีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงการดำเนินการบางประการหรือไม่ เพราะทราบมาว่า หากกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์จะต้องทำประชาพิจารณ์แต่บริษัท ฯขออนุญาตทำการผลิตไฟฟ้าเพียง 9.9 เมกะวัตต์ ทำให้มองว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นไม่บริสุทธิ์ใจ และมีข้อครหาว่าการเข้ามาดำเนินการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะครั้งนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ส่วนตัวก็จะคัดค้านจนถึงที่สุด.