posttoday

เด็กไทยสมาธิสั้นนับล้านคน เหตุพ่อแม่เลี้ยงลูกฝืนธรรมชาติ

15 มกราคม 2561

สธ.เผยตัวเลขเด็กไทยป่วยสมาธิสั้นกว่า 1 ล้านคน กุมารแพทย์เตือนเลี้ยงลูกฝืนธรรมชาติเป็นต้นเหตุ

สธ.เผยตัวเลขเด็กไทยป่วยสมาธิสั้นกว่า 1 ล้านคน กุมารแพทย์เตือนเลี้ยงลูกฝืนธรรมชาติเป็นต้นเหตุ

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เด็กที่ป่วยโรคสมาธิสั้นสาเหตุหลักในปัจจุบันเกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่กระตุ้นให้เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นมีอาการที่แย่ลง โดยเฉพาะการเร่งรัดให้เด็กปฐมวัยอ่านออกเขียนได้ หรือการเลี้ยงดูให้เด็กอยู่กับสื่อมีเดียประเภทต่างๆ ซึ่งผิดจากธรรมชาติที่เด็กจะต้องได้เล่นอย่างเหมาะสมกับวัย

“อาการสมาธิสั้นจะมีในเด็กทุกคนอยู่แล้ว เพราะในสมองจะมีสารบางชนิดที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ซึ่งเด็กบางคนที่มีอาการสมาธิสั้นอาจมีสารดังกล่าวที่พร่องจากเด็กทั่วไป ซึ่งหากผู้ปกครองเลี้ยงดูอย่างผิดๆ และฝืนธรรมชาติของเด็กก็จะทำให้อาการแย่ลง” นพ.สุริยเดว กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นกว่า 50% หรือราว 5 แสนคน จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับคนอื่น และเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองด้วย

ทั้งนี้ โรคสมาธิสั้นในเด็กเกิดจากภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง ทำให้เด็กเกิดความผิดปกติที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.มีช่วงสมาธิสั้นกว่าปกติ มีความสนใจต่ำ 2.ซุกซนผิดปกติ และ 3.มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น

นอกจากนี้ สถิติเด็กอายุ 6-12 ปี ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นในประเทศไทยซึ่งจัดเก็บตั้งแต่ปี 2555 พบว่ามีมากถึง 1 ล้านคน ซึ่งพบในเด็กชายมากที่สุด 12% มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่พบ 10%

“อาการสมาธิสั้นส่วนใหญ่พบในเด็กอายุก่อน 7 ปี และจะมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านลบ และติดตัวไปจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออก เช่น การต่อต้านสังคม เกเร ใช้ความรุนแรง รวมถึงเสี่ยงติดยาเสพติด และเกิดภาวะอาการซึมเศร้า” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยติดตามดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น โดยบูรณาการติดตามร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นสามารถให้ความรู้เรื่องโรค การประเมินลักษณะอาการเด็กด้วยแบบมาตรฐานของกรมสุขภาพจิต และสามารถติดตามผลความก้าวหน้าของเด็กสมาธิสั้นทั้งการเรียนและพฤติกรรม รวมถึงประเมินความเครียด เพื่อให้ผู้ปกครอง ครู จัดแบบแผนชีวิตประจำวันของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นให้เหมาะสมได้ ซึ่งคาดว่าจะทดลองใช้แอพพลิเคชั่นในเดือน เม.ย. 2561 และจะปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพก่อนขยายผลใช้ทั่วประเทศต่อไปโดยเร็ว

พญ.มธุรดา กล่าวว่า สาเหตุของโรคสมาธิสั้นในเด็กพบว่า 80% มาจากพันธุกรรม และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น ได้รับสารตะกั่ว สารฆ่าแมลง รวมถึงมารดาที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ติดสารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำลายการเจริญเติบโตสมองของเด็กได้ อย่างไรก็ตามการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นสามารถจัดการได้ โดยการคัดกรองอาการของโรคจากผู้ปกครอง ครู การปรับพฤติกรรมของผู้ปกครอง ครู ให้เหมาะสมกับเด็ก และการประเมินอาการและรักษาโดยแพทย์

“เด็กส่วนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น หรือราว 30% จะหายเองเมื่อผ่านช่วงเวลาวัยรุ่นไปแล้ว และจะสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น เรียนหรือทำงานได้เหมือนคนปกติทั่วไป” พญ.มธุรดา กล่าว