posttoday

เหยื่อแชร์ยาขาวร้องดีเอสไอหลังคดีล่าช้า

09 มกราคม 2561

ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ นำเหยื่อแชร์ยาขาวร้องดีเอสไอ ถูกหลอกร่วมลงทุนหลังคดีล่าช้า

ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ นำเหยื่อแชร์ยาขาวร้องดีเอสไอ ถูกหลอกร่วมลงทุนหลังคดีล่าช้า

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย นำผู้เสียหายแชร์ยาขาว เข้าร้องเรียนต่อพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้เสียหาย หลังจากมีผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 100 ราย เข้าแจ้งความแล้ว แต่คดีล่าช้า ผู้เสียหายเกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมีนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รักษาการผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง

น.ส.วรันธร เต็งเดชกุลธร อายุ 20 ปี ผู้เสียหายแชร์ยาขาว กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ตนถูกชักชวนจากเครือข่ายธุรกิจยาขาวผ่านเฟซบุ๊คให้เข้าร่วมสัมมนาฟังแผนธุรกิจ โดยเครือข่ายอ้างว่าเป็นงานโปรโมตสินค้า ซึ่งตนทำงานด้านนี้อยู่ จึงสนใจเข้าร่วม แต่เมื่อไปถึงภายในห้องประชุมมีแต่นักศึกษา และผู้ที่จะเข้าร่วมสัมมนาจะถูกเก็บเงิน 300 บาท เพื่อเป็นค่าสมัครเข้าฟัง โดยระหว่างการบรรยายแผนการตลาดจะมีเจ้าหน้าที่ปิดล็อคประตูห้องห้ามเข้าออก และมีกลุ่มเครือข่ายมาหว่านล้อมให้นำเงินทั้งหมดร่วมลงทุน โดยระบุว่าจะได้ผลตอบแทน 5,000-10,000 บาทต่อสัปดาห์ และได้รับสินค้าเป็นคอลลาเจนหรือที่เครือข่ายเรียกว่ายาขาวไปขาย หากสามารถปิดยอดวีไอพีได้จะได้กำไรและได้โทรศัพท์ไอโฟน 1 เครื่อง ซึ่งตนลงทุนไป 1.4 แสนบาท จากนั้นจึงชักชวนให้เพื่อนเข้าร่วมลงทุน โดยกลุ่มเครือข่ายบอกกับตนว่าแผนธุรกิจของบริษัทคือการหาเครือข่ายไม่ใช่การขายสินค้า ส่วนคอลลาเจนที่ได้มาก็ไม่สามารถขายได้ต้องทิ้งไปกว่า 2 ลัง

"เราถูกเครือข่ายโทรตื้อให้เข้าไปบริษัททุกวันหากไม่เข้าก็จะโทรตามทั้งวัน  เมื่อพบหน้าก็จะหว่านล้อมให้ลงทุนเพิ่ม จึงลงทุนไปรวมทั้งหมด 5 ครั้งเป็นเงิน 177,000 บาท แต่ได้รับเงินปันผลคืนกลับมาแค่ 1 หมื่นบาท และไอโฟน 7 พลัส 1 เครื่อง ก่อนหน้านี้ก็ได้ไปแจ้งความไว้หลายที่แต่คดียังไม่คืบ และเครือข่ายก็ยังติดต่อมาอย่างต่อเนื่อง"น.ส วรันธร กล่าว

ด้านนายปิยะศิริ กล่าวว่า คดีนี้เคยมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ที่ดีเอสไอแล้ว แต่ขณะนั้นพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือเครือข่ายยังไม่ได้ขยายเป็นวงกว้าง กรณีนี้จะต้องตรวจสอบก่อนจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ แต่จากการตรวจสอบเอกสารผู้เสียหายเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท และอาจเข้ามาตรา 4 ของพ.ร.บ.การกู้ยืมเงินฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการคดีพิเศษด้วย โดยจะเร่งดำเนินการ หากปล่อยไว้จะมีการขยายเครือข่ายมีมูลค่าความเสียหายเพิ่มเติม