posttoday

‘เอเลียนสปีชีส์’ ระเบิดเวลาของระบบนิเวศ

03 มกราคม 2561

กรณีพืชและสัตว์ต่างถิ่น หรือ“เอเลียนสปีชีส์” บางชนิดถูกระบุว่า เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศสามารถแพร่ขยายจำนวนได้อย่างไม่จำกัดเพราะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กรณีพืชและสัตว์ต่างถิ่น หรือที่เรียกกันว่า“เอเลียนสปีชีส์” บางชนิดถูกระบุว่า เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศและกลายเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ซึ่งเรื่องนี้แวดวงวิชาการชี้ตรงกันว่า แต่ละสายพันธุ์กลายเป็นภัย เพราะสามารถแพร่ขยายจำนวนได้อย่างไม่จำกัดเพราะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ ทำหน้าที่ควบคุมจำนวนประชากรให้เกิดความสมดุล จนในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่พบเห็นได้ทั่วไป

บางกรณีกำลังเป็นเสมือนระเบิดเวลาทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ที่ถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ในอนาคต อาจจะสร้างผลกระทบต่อด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจตามมาอย่างประเมินค่าไม่ได้

ตัวอย่างในอดีตที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ผักตบชวา ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าก่อให้เกิดปัญหากับแหล่งน้ำต่างๆ มากมาย ความร้ายกาจในการแพร่พันธุ์ของผักตบชวา ระบุไว้ว่า 1 ต้น สามารถให้เมล็ดได้ถึง 5,000 เมล็ด

ขณะเดียวกัน เมล็ดปะปนอยู่ในแหล่งน้ำจะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 15 ปี นอกจากนั้นยังสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการแตกหน่อ จากแค่เพียง 2 ต้น สามารถแตกเป็นต้นได้ 30 ต้น ภายในเวลา 20 วัน หรือเพิ่มน้ำหนักขึ้น 1 เท่าตัว ภายใน 10 วัน ครอบคลุมผิวน้ำได้ในอัตรา 8% ต่อวัน หากปล่อยผักตบชวาในแหล่งน้ำเพียง 10 ต้น จะสามารถแพร่กระจายเพิ่มปริมาณเป็น 1 ล้านต้น ภายในระยะเวลา 1 ปี

ขณะที่สัตว์เอเลียนสปีชีส์ที่รู้จักกันดีอย่าง ปลาซัคเกอร์ หรือที่เรียกกันว่าปลาเทศบาล ปลาชนิดนี้พบว่า เข้ามาทำลายระบบนิเวศโดยกินไข่ปลาท้องถิ่น จนบางชนิดเกือบสูญพันธุ์ และในปัจจุบันมีอยู่ทั่วทุกแหล่งน้ำ เพราะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย รวมถึงแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีหอยเชอร์รี่ ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของนาข้าว เพราะสามารถกินพืชที่มีลักษณะนุ่มได้เกือบทุกชนิด ที่สร้างผลกระทบมากที่สุดก็คือกัดกินต้นกล้าข้าว พบแพร่ระบาดในทุกจังหวัด สร้างความเสียหาย จนต้องนำเข้าสารเคมีเพื่อกำจัดหอยชนิดนี้นับหมื่นล้านบาทต่อปี

อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของไทย จนเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ทำลายระบบนิเวศน์ดั้งเดิม และก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่มากกว่า 3,500 ชนิด

ทั้งนี้ ไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกภาคีอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพได้กำหนดกรอบการจัดการกับเอเลียนสปีชีส์ออกมาเป็นประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง มีบทลงโทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ การขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากต่างประเทศจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง เสียก่อน ซึ่งจะพิจารณาวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้ รวมถึงมาตรการป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดออกไปยังแหล่งน้ำสาธารณะได้

นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ siamensis.org ระบุว่า กรณีที่มีการพบหนอนตัวแบน-นิวกินี ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลกในประเทศไทย เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหนอนสีน้ำตาลเข้ม มีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัวนี้ เป็นสัตว์ 2 เพศในตัวเดียวกัน แต่การผสมพันธุ์ยังต้องใช้ 2 ตัว เมื่อออกจากไข่ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็สามารถผสมพันธุ์ และวางไข่ได้ทันที ครั้งละ 5-10 ฟอง ใช้เวลา 7-8 วัน ก็ฟักตัวได้ อายุยืนประมาณ 2 ปี และสามารถวางไข่ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะตาย จึงเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์เร็ว เบื้องต้นพบว่า กินหอยทากเป็นอาหารหลัก รวมถึงกินทากเปลือยและไส้เดือน

“พฤติกรรมและอาหารของหนอนชนิดนี้ ถือเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงผลกระทบในวงกว้างต่อไป เช่น กรณีที่กินหอยทากเป็นอาหาร เคยมีงานวิจัยของญี่ปุ่นระบุว่าหนอนชนิดนี้เคยทำให้หอยทากชนิดพันธุ์ที่เป็นสัตว์พื้นถิ่นสูญพันธุ์ไปถึงสองชนิด หากระบาดในบางพื้นที่ของไทยและทำลายหอยทากเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ก็อาจจะส่งผลต่อสัตว์หรือแมลงพื้นถิ่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะอาจจะส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของหิ่งห้อยที่มีวงจรชีวิตบางช่วง สัมพันธ์กับหอยทาก และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นณณ์ กล่าว

ด้าน ศศิวิมล แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุเช่นกันว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยทักท้วงเรื่องดอกบัวตองที่ จ.แม่ฮ่องสอน จนกลายเป็นเรื่องความขัดแย้ง เป็นประเด็นทางสังคม

“บัวตองซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโก หรือรู้จักกันในชื่อของ Mexican Sunflower คือ พืชต่างถิ่นชนิดรุกรานรุนแรง ทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมมาแล้วหลายพื้นที่ หากไม่มีการกำจัดหรือจำกัดบริเวณก็อาจจะประสบปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้น ที่มณฑลยูนนานของจีน ซึ่งมีดอกบัวตองระบาดในพื้นที่กินบริเวณนับแสนไร่ โดยยังไม่สามารถกำจัดได้ ที่สำคัญบัวตองเป็นพืชที่สามารถสร้างสารที่เป็นพิษต่อพืชอื่นๆ รอบๆ ไม่ให้เจริญเติบโตได้ และเป็นพืชที่ไม่มีโรคคุกคาม

นอกจากนี้ ยังสามารถขยายพันธุ์ได้ง่าย จะแตกรากจากกิ่งก้านที่ล้มลงไปกับพื้น ล้มไปตรงไหนก็มีรากออกมาจากทุกข้อ พอเติบโตจะเป็นกอแน่น ทำลายด้วยการไถทิ้งไม่ได้ เมล็ดของบัวตองมีประมาณ 8 หมื่นเม็ด ถึง 1.6 แสนเมล็ด/ตารางเมตร และสามารถปลิวกระจายขยายพันธุ์ง่าย เพราะเมล็ดอยู่กับดินแล้งๆ ได้นานถึง 4 เดือน พอฝนตกก็เจริญเติบโตได้ทันที หากไม่เร่งจำกัดพื้นที่ไม่ให้ระบาดไปยังบริเวณอื่น หรือห้ามแพร่พันธุ์ในอนาคต อาจจะก่อปัญหาตามมาอีกมากมาย” อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ กล่าว

อย่างไรก็ดี สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ในระหว่างจัดทำคู่มือทะเบียน เอเลียนสปีชีส์ เตรียมพิมพ์เพื่อเป็นมาตรการให้หน่วยงานรัฐนำไปปฏิบัติ ควบคุม ป้องกัน และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่กำลังรุกรานในช่วงต้นปีนี้