posttoday

สลดปี60สัตว์ทะเลหายากตายอื้อทช.ตั้งศูนย์ช่วยชีวิต5แห่ง

22 ธันวาคม 2560

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผยตลอดปี2560มีสัตว์ทะเลหายากตาย400ตัวตั้งศูนย์ช่วยชีวิต 5แห่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผยตลอดปี2560มีสัตว์ทะเลหายากตาย400ตัวตั้งศูนย์ช่วยชีวิต 5แห่ง

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีทช. นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สัตวแพทย์หญิง(สพญ.)นันทริกา ชันซื่อ ในฐานะที่ปรึกษาทช.ร่วมแถลงข่าว สถานะสัตว์ทะเลหายากประเทศไทย 2560

นายอุกกฤต เปิดเผยว่า สัตว์ทะเลหายาก หมายถึงกลุ่มประชากรสัตว์ทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งจากจำนวนประชากรที่มีอยู่ ทั้งจากจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อย หรือจากที่มีภัยคุกคามจากมนุษย์ และตามธรรมชาติ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ จากการสำรวจล่าสุด พบว่า เต่าทะเลในประเทศไทย มี 5 ชนิด มีประชากรเหลืออยู่ทั่วประเทศประมาณ 2,500-3,500 ตัว โดยแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่าทะเลคือ เกาะคราม จ.ชลบุรี เกาะสิมิลัน และที่บริเวณหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต

"การณรงค์ให้คนไทยอนุรักษ์เต่าทะเลนั้น เพิ่งจะได้ผลเมื่อไม่มีกี่ที่ผ่านมา เพราะเราเพิ่งประสบผลสำเร็จจากการทำให้คนไทยเลิกนิยมกินไข่เต่าเมื่อไม่นานมานี้เอง หลังจากมีความพยายามมาร่วม 30 ปี ด้วยกัน แม้ว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนและตายยากกว่าสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ แต่อัตราการอยู่รอดจากการวางไข่แต่ละครั้งก็น้อยมาก ประชากรเต่า 2,500-3,500 ตัว จึงไม่ถือว่ามากมายเลย"นายอุกกฤต กล่าว

นายอุกกฤต กล่าวว่า สำหรับสัตว์กลุ่มวาฬและโลมาในประเทศไทยมีทะเล 10 แหล่งที่เป็นที่อยู่ของสัตว์กลุ่มนี้ โดยประเทศไทยมีวาฬและโลมา 27 ชนิด จาก 84 ชนิด ที่มีอยู่ทั่วโลกคาดว่าเวลานี้น่าจะมีประชากรวาฬและโลมาเหลืออยู่ประมาณ 2,000 ตัว เป็นที่น่าดีใจว่า ทช.สามารถติดตามดูแลวาฬบรูด้าอย่างใกล้ชิด โดยตั้งชื่อให้ให้วาฬเหล่านี้ไปแล้วถึง 60 ชื่อด้วยกัน การดูแลประชากรวาฬบรูด้าค่อนข้างประสบผลสำเร็จ เพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชุมชนใกล้เคียง ส่วนพะยูน หรือหมูน้ำนั้น ส่วนใหญ่อาศัยในทะเลอันดามันมีเหลืออยู่ประมาณ 200-250 ตัว โดย 80% อยู่ที่เกาะลิบง จ.ตรัง

นายจตุพร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทยตายไปถึง 400 ตัว 51% เป็นเต่าทะเล 38% เป็นวาฬและโลมา อีก 5% เป็นพะยูน สาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากการเกยตื้นตาย ตายเพราะโดนเครื่องมือประมงรัดตามร่างกาย และเกิดจากการกินขยะทะเลเข้าไปแล้วป่วยตาย ตัวเลขดังกล่าวแม้จะมากกว่าทุกๆปี แต่ตามสภาพประชากรของสัตว์ทะเลหายากทั้งหมดแล้ว ไม่ได้ถือว่ามากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง แต่ที่ตัวเลขออกมามากเป็นเพราะเรื่องของการแจ้งข่าวที่ปัจจุบันนี้ทำได้หลายทางโดยเฉพาะทางโซเชียลเน็ทเวิร์ค ทำให้รู้ข่าวได้มากขึ้นนั้นเอง

สพ.ญ.นันทริกา กล่าวว่า การช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อช่วยฟื้นฟูจำนวนประชากร เพื่อช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นให้มีโอกาสรอดสูงขึ้น ทช.ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด โดยทำงานร่วมกับแนวร่วมเครือข่ายองค์กรในพื้นที่ มหาวิทยาลัย และชุมชนมากกว่า 25 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมสัตวแพทย์ นักวิชาการเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครชุมชน มากกว่า 800 คน