posttoday

ส่องแนวโน้มอากาศกรุงเทพฯ! อุ่นขึ้นหลัง23ธ.ค. ก่อนหนาวอีกครั้งต้น ม.ค.61

21 ธันวาคม 2560

ฟังคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ ฤดูหนาวปีนี้ คนกรุงฯ ได้ใส่เสื้อกันหนาวนานแค่ไหน

ฟังคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ ฤดูหนาวปีนี้ คนกรุงฯ ได้ใส่เสื้อกันหนาวนานแค่ไหน

"กรุงเทพฯ หนาวมาก" กลายเป็นประโยคที่กลับมาฮิตอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ต. ที่ผ่านมา หลังทั่วเมืองหลวงและปริมณฑลมีสภาพอากาศหนาวเย็น โดยอุณหภูมิต่ำสุดคือ 16 องศาเซลเซียส ขณะที่สูงสุดก็อยู่ในบรรยากาศสบายๆ 27-30 องศาเซลเซียส

คำถามก็คือ หนาวนี้ คนกรุงฯ จะได้ใส่เสื้อกันหนาวอีกนานแค่ไหน...

“จริงๆ เป็นปกติ เพียงแค่เราห่างหายจากความปกติไปนาน โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลัง” วันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเอ่ยปากถึงสภาพอากาศที่ในปัจจุบัน

เขาบอกว่า ปีนี้อุณหภูมิลดต่ำลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังเดือนธ.ค. ไปจนกระทั่งกลางเดือน ม.ค. เนื่องจากได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือที่เคลื่อนตัวไหลผ่านมาทางมองโกเลีย รัสเชีย และจีนลงมา โดยหากสังเกตดูจะพบว่าบางพื้นที่ของรัสเซียปีนี้หนาวถึง -40 องศาเซลเซียส

“มวลอากาศพวกนี้มาถึงประเทศไทยทำให้มีความหนาวเย็น บังเอิญปีนี้ลงมาตรงๆ ทางเอเชียตอนล่าง ผิดกับบางปีที่ออกไปทางประเทศญี่ปุ่น ทำให้เราหนาวกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” เขาบอกและว่า อุณหภูมิในฤดูหนาวปีนี้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเท่ากับเมื่อ 8 ปีที่ก่อนหรือในปี พ.ศ. 2552

 

ส่องแนวโน้มอากาศกรุงเทพฯ! อุ่นขึ้นหลัง23ธ.ค. ก่อนหนาวอีกครั้งต้น ม.ค.61

 

หลังจากวันที่ 22 ธ.ค. เป็นต้นไป กรุงเทพฯ และปริมณฑล สภาพอากาศจะอุ่นขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงในระดับ 3 องศาเซลเซียส

ในช่วงวันที่ 23-24 ธ.ค. คาดว่า อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียสและเย็นลงอีกครั้งในช่วงวันที่ 27-28 ธ.ค. ก่อนจะกลับมาอุ่นขึ้นเล็กน้อย จนกระทั่งช่วงต้นปี 2561 คาดว่าอุณหภูมิจะลดและกลับมาในระดับปัจจุบันที่ต่ำสุด 16-18 องศาเซลเซียสอีกครั้ง

"อุ่นขึ้นมากน้อยแค่ไหน ต้องดูที่อิทธิพลของแสงแดดประกอบด้วย แต่จะขึ้นลงภายในเดือนนี้และกลับมาหนาวอีกครั้ง ช่วงต้นเดือน ม.ค.2561 ยังไม่แน่ชัดว่ากี่วัน แต่คาดว่าจะได้รับอิทธิพลจากมวลอากาศจีนอีกครั้ง อาจจะหนาวต่อเนื่องไปประมาณ 4-5 วันและกลับมาอุ่นขึ้นก่อนจะค่อยๆ ลดความหนาวลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากพระอาทิตย์เริ่มขยับเข้าใกล้ประเทศไทย โดยฤดูหนาวจะสิ้นสุดลงประมาณกลางเดือน ก.พ."

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า บอกว่า สภาพอากาศในกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งอิทธิพลจากธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน การขยายตัวของเมือง อย่างสิ่งก่อสร้างตึกสูงที่ทำให้เกิดการสะสมของความร้อนโดยเฉพาะในช่วงกลางวัน รวมถึงจำนวนพื้นที่สีเขียวที่ลดลง ทั้งหมดส่งผลให้การสะสมของความร้อนในชั้นบรรยากาศในตัวเมืองมีมากขึ้น

“อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะปัจจัยแวดล้อมของเมืองเองและภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้พื้นที่เมืองได้รับผลกระทบจากฤดูหนาวน้อยลงกว่าในอดีตมากกว่าพื้นที่ชนบท อุณหภูมิ 16-18 องศาเซลเซียสไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นเรื่องปกติ แต่แนวโน้มที่จะเกิดแบบนี้นั้นน้อยลงกว่าในอดีต อาจจะทิ้งช่วงนาน แต่ไม่ได้หมายความว่าโอกาสแบบนี้จะไม่มี”