posttoday

แรงงานร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท เท่ากันทั้งประเทศ

20 ธันวาคม 2560

คสรท. บุกกระทรวงแรงงาน เสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 5 ด้าน ลั่นค่าจ้างเเรงงานขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ

คสรท. บุกกระทรวงแรงงาน เสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 5 ด้าน ลั่นค่าจ้างเเรงงานขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ

เมื่อวันที่  20 ธ.ค. นายสาวิทย์ เเก้วหวาน  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทย (คสรท.)พร้อมด้วยตัวเเทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กว่า 50 คน รวมตัวกันบริเวณด้านหน้ากระทรวงเเรงงาน เพื่อประกาศจุดยืนคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะประกาศใช้ในปี 2561 ที่มีเเนวทางจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่เท่ากันทั้งประเทศเเละจำนวนอัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเเต่ละจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาเงื่อนไขการปรับไม่สอดคล้องกับองค์การเเรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมของเเรงงาน จึงขอเสนอหลักการในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใน 5 ด้านต่อรัฐบาล

ดังนี้ รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรมตามหลักการขององค์การเเรงงานระหว่างประเทศเเละค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ,ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ,ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการที่เป็นอิสระเเละมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี , กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างเเละปรับค่าจ้างทุกปีเเละต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเเรงงานมีค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการดำรง ชีวิต จากการสำรวจค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับเเรงงานคนเดียวคือ 360 บาท เเต่ตามหลักการองค์การเเรงงานระหว่างประเทศคือคนทำงาน 1 คนต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้อีก 2 คน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องเป็นไปตามนั้นด้วย ประกอบกับผลสำรวจหนี้สิน พบว่าคนงานมีหนี้เฉลี่ยต่อวันเกือบ 226 บาท ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ส่วนตัวเลขมีคนเสนอค่าจ้าง 712 บาท ก่อนหน้านี้นั้น ทางคณะกรรมการสมานฉันท์ฯไม่ได้เสนอ  เเต่เป็นค่าจ้างที่มีได้การสำรวจการค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทบวกกับอัตราเงินเฟ้อปีละ 3% ซึ่งในเวลา 13.00 น. วันนี้  จะมีการเข้าหารือกับ พล.ต.อ.อดุลย์ เเสงสิงเเก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่าจะขึ้นค่าจ้าง 2-15 บาทเเละไม่เท่ากันทั้งประเทศ ตนมองว่าถึงอย่างไรค่าจ้างต้องเท่ากัน เพราะคงลดปัญหาการอพยพของเเรงงานได้

ด้าน น.ส.ธนพร กล่าวว่า สำหรับการสำรวจแรงงานเกือบ 3,000 คน พบว่าทุกคนล้วนมีหนี้สินมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนมีหนี้เป็นแสน แต่เมื่อมาเฉลี่ยแล้วจะพบว่า แต่ละคนมีหนี้อยู่ที่วันละ 225.87 บาท โดยพบว่าเป็นหนี้กู้สหกรณ์ กู้นอกระบบ และหนี้ธนาคารเป็นหลัก ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอหลังจากหักหนี้เหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอยากให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพราะเสนอแล้วก็ต้องผ่านคณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลางอีก แต่ก็ควรรื้อคณะกรรมการฯ กลาง เพราะไม่ได้มาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง แม้จะพูดว่ามีองค์ประกอบเป็นไตรภาคี แต่ส่วนสำคัญกลับไม่มี อาทิ หอการค้า ภาคีลูกจ้าง ทั้งแรงงานนอกระบบ และในระบบ รวมทั้งนักวิชาการอิสระ จึงขอให้รื้อและตั้งเป็นคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติที่ครบองค์ประกอบจริงๆ