posttoday

พบสิ่งลี้ลับ 115 ชนิดพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง

19 ธันวาคม 2560

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผยให้เห็นถึง การค้นพบอันน่าทึ่งของทีมนักวิทยาศาสตร์

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)  เผยให้เห็นถึง การค้นพบอันน่าทึ่งของทีมนักวิทยาศาสตร์

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.  รายงาน สัตว์โลกลี้ลับ (Stranger Species) ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)  เผยให้เห็นถึง การค้นพบอันน่าทึ่งของทีมนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานศึกษาวิจัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ประจำปี 2560 โดยพบสัตว์โลกลี้ลับมากถึง 115 ชนิดพันธุ์

สิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ แบ่งได้เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 11 ชนิดพันธุ์ ปลา 2 ชนิดพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 11 ชนิดพันธุ์ พืช  88 ชนิดพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 3 ชนิดพันธุ์ โดยพื้นที่ที่ค้นพบได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย

การค้นพบครั้งนี้ยังรวมถึง กบสีสันสวยงามซึ่งพบในพื้นที่ภูเขาหินปูนในประเทศเวียดนาม  ตัวตุ่นจำนวน 2 ชนิดพันธุ์ซึ่งพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนามและชาวรัสเซีย ปลาโลซ (loach) ลำตัวยาวและมีลายพาดขวางสลับสีเข้มอ่อนพบในประเทศกัมพูชา  กิ้งก่าจระเข้, เต่านาอีสาน, ค้างคาวมงกุฎภูเขา

การสำรวจดังกล่าวดำเนินการโดย WWF เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบทั้งหมดในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง มีจำนวนมากถึง 2,524 ชนิดพันธุ์

Stuart Chapman ตัวแทน WWF ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกล่าวว่า “ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราสำรวจพบสิ่งมีชีวิตมากกว่า 2 ชนิดพันธุ์ทุกสัปดาห์ รวมแล้วมากกว่า 2,500 ชนิด นี่บ่งบอกถึงความมหัศจรรย์ของความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระดับโลก แม้ว่าปัจจุบันภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ แต่การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ก็ทำให้เรามีความหวังถึงการมีชีวิตรอดของไม่ว่าจะเป็นเสือหรือเต่าตัวเล็กๆ” 

จุดเด่นของรายงาน สัตว์โลกลี้ลับลุ่มน้ำโขง (Stranger Species)

• ค้างคาวมงกุฎภูเขา (Mountain Horseshoe bat) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Rhinolophus monticolus พบในพื้นที่ป่าดงดิบในเทือกเขาของประเทศลาว และประเทศไทย การค้นพบครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 10 ปีในการตรวจสอบจนกระทั่ง ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข จะสามารถระบุได้ว่า ค้างคาวที่พบเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ จากลักษณะโครงหน้าค้างค้าวที่แตกต่างจากค้างคาวมงกุฎชนิดพันธุ์อื่น คือ มีแผ่นจมูก (noseleaf) สีส้ม

 

พบสิ่งลี้ลับ 115 ชนิดพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง

 

• กิ้งก่าจระเข้ (Vietnamese crocodile lizard) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Shinisaurus crocodilurus vietnamensis เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดกลาง อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าดิบทางตอนใต้ของประเทศจีนและทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ปัจจุบันภัยคุกคามหลักต่อการอยู่รอดของกิ้งก่าจระเข้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า การทำเหมืองถ่านหิน และการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าเพื่อนำมาขาย คาดว่า มีกิ้งก่าสายพันธุ์ดังกล่าวเหลืออยู่ในประเทศเวียดนามเพียง 200 ตัวเท่านั้น กิ้งก่าชนิดพันธุ์นี้ค้นพบโดย ดร. Thomas ziegler นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจนำไปวาดเป็นการ์ตูนประกอบในหนังสือชื่อ “shini” เพื่อเผยแพร่ให้นักเรียนเข้าใจถึงความสำคัญของกิ้งก่าจระเข้

 

พบสิ่งลี้ลับ 115 ชนิดพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง

 

• เต่านาอีสาน (snail eating turtle) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Malayemys isan มีความแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น เพราะไม่ได้ถูกค้นพบในพื้นที่ป่าหรือแหล่งน้ำ แต่พบในตลาดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยดร.มนตรี สุมณฑา ผู้ค้นพบสังเกตเห็นเต่าชนิดนี้ที่ตลาด และจึงนำมาศึกษาวิจัย ปัจจุบันเต่านาอีสานกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อน

พบสิ่งลี้ลับ 115 ชนิดพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง

 

• ตัวตุ่น (Moles) ค้นพบที่ประเทศเวียดนาม การค้นพบดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกถึงวิวัฒนาการและการพัฒนาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอินโดจีน เพราะพบได้ตามแหล่งน้ำลำธารสาขาทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม หนึ่งในทีมนักวิจับที่ค้นพบคือ ดร. Alexei Abramov ระบุว่า การที่ตัวตุ่นอาศัยอาศัยอยู่ใต้ดิน เป็นหนึ่งในวิธีการเอาตัวรอดของตัวตุ่นเพื่อดำรงจำนวนประชาชากรและหลบหนีนักล่า

 

พบสิ่งลี้ลับ 115 ชนิดพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง

 

• กบสีสันสดสวยงาม หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Odorrana Mutschmanni คือหนึ่งใน 5 ของสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ที่พบในบริเวณภูเขาหินปูนทางตอนเหนือของเวียดนาม คณะวิจัยที่นำโดย ดร. Truong Nguyen ระบุว่า กบชนิดนี้กำลังถูกคุกคามจากการทำเหมืองหิน สำหรับการก่อสร้างปูนซีเมนต์และการสร้างถนน และป่าซึ่งที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของมันต้องการการปกป้องอย่างเร่งด่วน

 

พบสิ่งลี้ลับ 115 ชนิดพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง

 

• ปลาโลซ (loach) พบในประเทศกัมพูชา ปลาชนิดดังกล่าวมีลายพาดสีเข้มสลับสีอ่อนที่โดดเด่นตลอดลำตัวยาว

 

พบสิ่งลี้ลับ 115 ชนิดพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง

 

• กบและพืชจำนวน 4 ชนิดที่พบในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งนำไปสู่การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ และเก็บข้อมูลสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ต่างๆ หลายร้อยชนิด

การค้นพบสัตว์สายใหม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมาก เพราะปัจจุบัน ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังเผชิญกับการพัฒนาขนาดใหญ่จำนวนมากไม่ว่าจะเป็น การทำเหมือง ถนน และเขื่อน ที่เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการอยู่รอดของพื้นที่ป่าตามธรรมชาติ การลักลอบล่าสัตว์ป่าเพื่อเอาเนื้อมาบริโภค และธุรกิจการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของสัตว์ป่าในภูมิภาค

ทั้งนี้ การซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เป็นตัวแปรหลักที่สำคัญต่อการลดลงของจำนวนสัตว์ป่าในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลาดค้าสัตว์ป่าที่ตั้งอยู่ในประเทศลาวและประเทศพม่า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ประกอบกับความต้องการซื้อจำนวนมากจากนักท่องเที่ยวจีนและเวียดนาม ที่เดินทางมายังตลาดมงลาและตลาดท่าขี้เหล็กในประเทศพม่า ตลาดบ่อเต็นและบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศลาว ก็กระตุ้นให้เกิดการล่าสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น

Stuart Chapman ย้ำว่า “สิ่งมีชีวิตที่พบในพื้นที่แม่น้ำโขงเปรียบเสมือนผลงานศิลปะจากธรรมชาติ ซึ่งสมควรได้รับการปกป้องจากนักสะสมที่ไร้จิตสำนึก ที่หวังเพียงครอบครองสิ่งมีชีวิตที่มีค่าเหล่านี้ ตลาดสามเหลี่ยมทองคำเป็นพื้นที่เปิดให้มีการค้าขายสัตว์ป่าอย่างเปิดเผย จำเป็นที่รัฐบาลในภูมิภาคควรต้องเร่งดำเนินการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและปิดตลาดให้ได้เร็วที่สุด รวมถึงธุรกิจฟาร์มเสือและฟาร์มหมี”

ทั้งนี้ WWF ได้นำเสนอ โครงการ เพื่อหยุดยั้งการค้าขายสัตว์ป่าและปิดตลาดค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  โดยเป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรจากประเทศต่าง ๆ  WWF มีปณิธานที่ชัดเจนว่าจะลดจำนวนการค้าสัตว์ป่า ซึ่งกำลังคุกคามความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง เสือ และแรด ผ่านการทำงานสนับสนุนกลไกด้านกฎหมาย การประสานความร่วมมือระหว่างชายแดน และการเพิ่มมาตรการกดดันการซื้อขายสินค้าจากสัตว์ป่าข้ามชายแดนให้เข้มข้นมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงาน สิ่งลี้ลับในลุ่มน้ำโขง   (Stranger Species) ฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 9 โดยเน้นที่การค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับรายก่อนฉบับก่อนหน้า ไปที่ http://greatermekong.panda.org/discovering_the_greater_mekong/species/new_species/

- รายชื่อผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง สามารถดูได้ที่ http://bit.ly/2jXi6Dw