posttoday

แนะรัฐเร่งออกมาตรการหนุนคนติดกล้องหน้ารถชี้เกิดประโยชน์หลายด้าน

11 ธันวาคม 2560

แพทย์-ตำรวจ ประสานเสียงแนะรัฐบาลออกมาตรการหนุนคนติดกล้องหน้ารถชี้เกิดประโยชน์ 3 เด้ง เสนอออกสติ๊กเกอร์ "camera in car"

แพทย์-ตำรวจ ประสานเสียงแนะรัฐบาลออกมาตรการหนุนคนติดกล้องหน้ารถชี้เกิดประโยชน์ 3 เด้ง เสนอออกสติ๊กเกอร์ "camera in car"

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “social media กล้องหน้ารถ สมาร์ทโฟน ใช้อย่างไรเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ในการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 13” ภายใต้แนวคิด ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน (Invest for Sustainable Road Safety) ว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนราว 22,000 ราย เฉลี่ยวันละ 50-60 ราย  มีผู้ที่ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จากกรณีรถชน ประมาณ 1 ล้านคน กลายเป็นผู้พิการราว 6 พันคนต่อปี  และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 เว็บไซต์เวิล์ดแอตลาส ได้เปิดเผยว่าประเทศไทยมีอัตราตายบนท้องถนนอยู่ในอันดับ 1 ของโลก

"การแก้ปัญหาเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน มาตรการต่างๆ ที่ไทยดำเนินการมาเป็น 20 ปี เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะคนไทยรู้ข้อกฎหมายว่าแบบไหนผิด แต่ก็ยังทำผิด ด้วยความย่ามใจ และเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายไทยแลนด์4.0 คำตอบในการลดอุบัติเหตุบนถนน คือ การติดกล้องหน้ารถให้ได้ 70-80% ของรถในประเทศไทย โดยจะเป็นการส่งผลทางอ้อม ทำให้ผู้ขับขี่ไม่กล้าที่จะกระทำผิดบนถนนเพราะรู้ว่ามีกล้องหน้ารถคันอื่นจับภาพอยู่ แม้จะไม่โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับ แต่จะโดนสังคมออนไลน์ประณาม ซึ่งหนักกว่า เพราะจะมีการสืบสางประวัติถึงตระกูล ฉะนั้นหากรถในไทยมีกล้องทุกคันเชื่อว่าพฤติกรรมคนที่ทำไม่ดีบนถนนจะลดลง"นพ.แท้จริงกล่าว

นพ.แท้จริง กล่าวต่อว่า การผลักดันเรื่องการติดกล้องหน้ารถเพราะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน มูลนิธิฯ เคยทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยและให้เป็นนโยบาย โดยสั่งการใน 2 เรื่อง คือ มอบกระทรวงการคลังพิจารณาระบบภาษีที่จะช่วยให้คนไทยติดกล้องหน้ารถได้ และมอบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในการหาวิธีให้ถือเป็นนโยบายลดอุบัติเหตุ ซึ่งนายกฯสั่งการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครสนองนโยบายนายกฯ เลย

ด้านพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุบนท้องถนน ภาพและเสียงจากกล้องหน้ารถสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ หลักฐานจากคู่กรณีและจากพยานบุคคลอื่น

นอกจากนี้ การติดกล้องยังก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ปกป้องตัวเองและครอบครัว เพราะพยานหลักฐานนี้โกหกไม่ได้และเชื่อถือได้มากกว่าคน   2.ช่วยเหลือคนอื่นๆ ในสังคม กรณีที่เกิดอุบัติเหตุบนถนน หากผู้ขับขี่ติดกล้องและบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้ สามารถนำมาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการปกป้องคนดี ไม่ให้เป็นจำเลย โดยเฉพาะปัจจุบันมีการชนแล้วหนีจำนวนมาก หากไม่มีหลักฐานก็เอาผิดไม่ได้ ทำให้คนทำผิดลอยนวล และ 3.เมื่อรถทุกคันติดกล้อง ก็จะเป็นการป้องปรามไม่ให้คนทำผิด เพราะรู้ว่าหากมีกล้องก็จะถูกบันทึกไว้ จึงควรมีส่งเสริมให้ติดสติ๊กเกอร์ camera in car เหมือนกับที่มี baby in car เพื่อให้คนรู้ว่ารถคันนี้มีกล้องติดไว้ ทำให้คนไม่กล้าทำผิด เป็นการกระตุ้นเตือนกระตุกความคิดผู้ที่คิดจะทำผิด

ทั้งนี้ควรระมัดระวังการส่งต่อคลิปวิดีโอจากกล้องหน้ารถนำลงสื่อสังคมออนไลน์ เพราะอาจละเมิดกฎหมายพรบ.คอมพิวเตอร์ ดังนั้นหากมีคลิปให้ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานรัฐจะดีที่สุด หรือหากจะโพสต์ควรเบลอหน้าบุคคลในคลิป