posttoday

ค้านค่าแรง250

04 ตุลาคม 2553

กกร.ประชุมด่วนค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท หวั่นกระทบภาคเกษตร บริการ และเอสเอ็มอี ชงคณะกรรมการไตรภาคีดูแล

กกร.ประชุมด่วนค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท หวั่นกระทบภาคเกษตร บริการ และเอสเอ็มอี ชงคณะกรรมการไตรภาคีดูแล

 

ค้านค่าแรง250

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 4 ต.ค. 2553 จะหารือวาระเร่งด่วนเรื่องการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด 250 บาท ที่รัฐบาลจะผลักดันเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน

“การปรับค่าแรงงานขั้นต่ำขึ้นทันที 250 บาท ถือว่าสูงเกินไป และถ้าปรับขึ้นครั้งเดียวอาจทำให้บางจังหวัดปรับขึ้นถึง 100 บาท จนเป็นภาระต่อผู้ประกอบการ เช่น จ.น่าน ที่ปัจจุบันมีค่าแรงขั้นต่ำ 152 บาท” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำว่า อยากเห็นการพิจารณาปรับเพิ่มให้อยู่ที่ระดับ 250 บาทต่อวัน สำหรับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ หลังจากที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการปรับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนขึ้น 5% ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการครู 8% สส.สว. และข้าราชการรัฐสภา 14% โดยมีผลในเดือน เม.ย.ปีหน้า

นายพยุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า กกร.จะหาจุดยืนต่อการขึ้นค่าแรงงานเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอให้กับภาครัฐ เพราะการประกาศของรัฐบาลสร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการ และอาจส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น โดย ส.อ.ท.เห็นด้วยที่จะปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ แต่ควรให้คณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ เอกชน และภาคแรงงาน ร่วมพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนก่อนตัดสินใจปรับ

ขณะเดียวกันการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือมาก ต่างจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ใช้แรงงานมีฝีมือ จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่จ่ายค่าแรงงานสูงกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาคบริการและแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบในวงกว้าง จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งในระยะยาวผู้ประกอบการเห็นว่าการปรับค่าแรงงานควรปรับตามฝีมือแรงงาน โดยการปรับค่าแรงงานดังกล่าวจะทำให้แรงงานมีโอกาสก้าวหน้าในการทำงานมากกว่ารอความหวังการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว