posttoday

บทเรียนบิ๊กไบค์กร่าง! "เมา-เบิ้ลเครื่องสนั่น-ด่าตำรวจ" ผิดกฎหมายข้อหาใดบ้าง

30 พฤศจิกายน 2560

ตำรวจนครบาลยกเคสหนุ่มบิ๊กไบค์เมากร่างด่าตำรวจให้ความรู้ประชาชน ดูกันชัดๆผิดกฎหมายข้อใดบ้าง?

ตำรวจนครบาลยกเคสหนุ่มบิ๊กไบค์เมากร่างด่าตำรวจให้ความรู้ประชาชน ดูกันชัดๆผิดกฎหมายข้อใดบ้าง?

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้เผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้ประชาชนจากกรณีเหตุการณ์ ชายขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย มีอาการมึนเมารวมทั้งได้ด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจและแสดงกิริยาเหยียดหยามด้วยการชูนิ้วกลางใส่เจ้าหน้าที่ เหตุเกิดบริเวณแยกศาลาแดง แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยระบุว่า ชายคนดังกล่าวเป็นความผิดหลายฐานความผิดแตกต่างกัน ดังนี้

1. ความผิดฐาน “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” โดยมีการกระทำในลักษณะการชูนิ้วกลาง พูดจาด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพูดว่าจะเอาเท่าไหร่ เป็นการกระทำซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับความเสียหาย ถูกเหยียดหยาม และเกิดความรู้สึกอับอาย หรือจะเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่จับกุม แม้การชูนิ้วกลางแต่ไม่ได้พูดอะไร ก็เป็นการแสดงกิริยาที่สื่อความหมายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการด่าทอ อีกทั้งขณะเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็อย่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อำนวยการจราจร ดังนั้นการกระทำของชายดังกล่าวย่อมเป็นความผิด “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ความผิดฐาน “ขับขี่รถในขณะเมาสุรา” ซึ่งผลจากการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ภายในร่างกายพบว่ามีปริมาณอยู่จำนวน 213 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ซึ่งเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ตามที่กฎหมายกำหนด มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงศาลสั่งพักใบอนุญาตมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ เพิกถอนใบอนุญาต

- กรณีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์, ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์, ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้ และผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาต หรืออยู่ระหว่างการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ให้ถือว่าเป็นผู้เมาสุรา

3. ความผิดฐาน "ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์” ตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง , 148 วรรคหนึ่ง อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 500 บาท

4. ความผิดฐาน "ไม่จัดให้ผู้ซ้อนสวมหมวกนิรภัยขณะซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์" ตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 122 วรรคสอง , 148 วรรคสอง อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

5. ความผิดฐาน "เปลี่ยนแปลงโดยวิธีใด ๆ หรือปิดบังทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้ประจำรถ" กรณีติดแผ่นป้ายทะเบียนมองเห็นได้ไม่ชัด ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 11, 60 อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

6. ความผิดฐาน "ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำให้เกิดเหตุอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร” กรณีการเบิ้ลเครื่องยนต์ส่งเสียงดังรบกวนพี่น้องประชาชนบริเวณโดยรอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 66 วางหลักว่า ความมึนเมาเพราะเสพสุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าส่ิงนั้นจะทําให้มึนเมา หรือได้เสพโดยถูกขืนใจให้เสพ และได้กระทําความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ โดยการอ้างเหตุมึนเมามีแนวคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 617/2526 จำเลยสมัครใจดื่มสุราเอง และขณะกระทำความผิด ก็มีความรู้ผิดชอบเป็นอย่างดี จะอ้างว่าได้กระทำผิดไปด้วยความไร้สติ ไม่รู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ อันเนื่องมาจากดื่มสุรา เป็นข้ออ้างให้ลดหย่อนผ่อนโทษตาม มาาตรา 66 หาได้ไม่

ที่มา เฟซบุ๊ก กองบัญชาการตำรวจนครบาล - บช.น.