posttoday

สุขาสาธารณะแสนไฉไล ปลดทุกข์คลายใจ...สบายๆ

25 พฤศจิกายน 2560

เพิ่งผ่านพ้นวันสุขาโลก (World Toilet Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พ.ย.ของทุกปี โดยองค์การสุขาโลก (World Toilet Organization) มีการประชุมสุขาโลกครั้งที่ 14 ประจำปี 2017

 โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล 

 เพิ่งผ่านพ้นวันสุขาโลก (World Toilet Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พ.ย.ของทุกปี โดยองค์การสุขาโลก (World Toilet Organization) มีการประชุมสุขาโลกครั้งที่ 14 ประจำปี 2017 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าภาพ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

 วันสุขาโลกใช้เป็นจุดเริ่มต้นการรณรงค์กิจกรรมต่างๆ ทั่วโลก เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีสุขอนามัยในการใช้ห้องสุขา ตระหนักถึงความสำคัญของความสะอาดของห้องน้ำและห้องสุขาให้มากขึ้น

 ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนที่ยังต้องทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสุขอนามัยได้พยายามปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตในด้านการขับถ่ายที่มีอนามัยมากขึ้น

 สำหรับในปี 2560 นี้ วันสุขาโลก ได้รณรงค์ในหัวข้อหลักว่า น้ำเสีย (Wastewater) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมรณรงค์ให้สอดคล้องในหัวข้อ “เส้นทางส้วม ครบวงจร” ( where does our poo go?) เพื่อสร้างความตระหนักถึงการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกสุขลักษณะ ป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคลงสู่แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม

สุขาสาธารณะแสนไฉไล ปลดทุกข์คลายใจ...สบายๆ

 หากย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว หรือในปี 2551 คนไทยได้รู้จักถึงการรณรงค์ห้องสุขาหรือส้วมถูกสุขอนามัย เป็นปรากฏการณ์ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ พูดถึงและเมาท์มอยกันสนั่นเมือง

 เมื่อมีการประกาศตำแหน่งพรีเซนเตอร์นายและนางสาวสุขา (Mister & Miss Happy Toilet) นั่นคือ วัน อยู่บำรุง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น กับดาราสาวชื่อดัง “พลอย” เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ เพื่อรณรงค์โครงการส้วมสะอาดและกระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง ช่วยกันรักษาความสะอาดส้วมสาธารณะ

 ทั้งสองคนจึงถูกจดจำและเรียกชื่อแบบชาวบ้านเป็น “มิสเตอร์ส้วมกับมิสส้วม” ไปโดยปริยาย ทว่าตำแหน่งพรีเซนเตอร์ดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกสานต่อในปีต่อๆ มา ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

 ว่าไปแล้วความตื่นตัวในเรื่องห้องสุขาหรือห้องส้วมสาธารณะในเมืองไทย ได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2549 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้จัดงานประชุมสุขาโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นงานประชุมระดับนานาชาติ เรื่องสุขอนามัยของห้องสุขา โดยจัดที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อปลายปี 2549 โดยผู้เข้าประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การสุขาโลก (World Toilet Organization) 38 ประเทศ จุดประกายส้วมสาธารณะ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย

 นอกจากนี้ ในหลายๆ ปีต่อจากนั้นก็มีความพยายามผลักดันให้เกิดวาระสุขาแห่งชาติ เปลี่ยนส้วมซึมแบบนั่งยองเป็นชักโครกทั่วประเทศ หวังลดความเสี่ยงการเกิดข้อเข่าเสื่อม หลังพบคนไทยป่วยมากกว่า 6 ล้านคน แนะประชาชนลดน้ำหนัก บริหารข้อป้องกันโรค

 มีการรณรงค์เรื่องห้องสุขาสาธารณะที่สะอาด ได้มาตรฐาน HAS (Health, Accessibility, Safety) คือสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ในสถานที่ต่างๆ 12 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.แหล่งท่องเที่ยว 2.ร้านจำหน่ายอาหาร 3.ตลาดสด 4.สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 5.โรงเรียน 6.สถานที่ราชการ 7.โรงพยาบาล 8.ศาสนสถาน 9.สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ 10.สวนสาธารณะ 11.ห้างสรรพสินค้า และ 12.ส้วมสาธารณะริมทาง

 เมื่อมาดูถึงแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556-2559) ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ทั้งนี้ กรมอนามัยจึงเร่งจัดทำแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) ส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้สุขาที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้นและพัฒนาการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน โดยนำสิ่งปฏิกูลมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

 การส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือนมีส้วมใช้ช่วยลดอัตราป่วยและตายจากโรคระบบทางเดินอาหารได้ระดับหนึ่ง แต่การพัฒนาส้วมสาธารณะไทยตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะ HAS คือ สะอาด (Health : H) เพียงพอ (Accessibility : A) และปลอดภัย (Safety : S) ช่วยยกระดับประเทศให้เป็นที่ยอมรับกับนานาชาติมากขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ

 ปัจจุบันมีสุขาสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในภาพรวม 71% มาดูสถานการณ์ในปี 2560 ที่จะผ่านพ้นไปนี้

สุขาสาธารณะแสนไฉไล ปลดทุกข์คลายใจ...สบายๆ

สุขาดีเด่นเมื่อวันสุขาโลก 2560

 การมีห้องสุขาใช้ถือเป็นความจำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

 องค์การสหประชาชาติประกาศ ในจำนวนประชากร 7,000 ล้านคน มี 6,000 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือ แต่มี 2,500 ล้านคน ไม่มีห้องสุขาใช้ มี 1,100 ล้านคนขับถ่ายในที่สาธารณะ ซึ่งคุกคามต่อการสาธารณสุข และทั่วโลกมีเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวน 7.6 แสนคน เสียชีวิตจากการท้องเสียท้องร่วงในแต่ละปีถ้ามีน้ำดื่มที่สะอาดและการอนามัยพื้นฐานที่ดีการเสียชีวิตของเด็ก เหล่านี้ย่อมสามารถหลีกเลี่ยงได้

 ดังนั้น จากการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ผ่านมติว่ากำหนดวันที่ 19 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันสุขาโลก เพื่อให้ทุกคนมีแนวคิดที่มีห้องน้ำห้องสุขาที่สะอาด กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบหลักในการดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน

 จากการสำรวจของกรมอนามัย  ปี 2558 พบว่า สุขาสาธารณะที่ประชาชนเลือกใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ห้างสรรพสินค้า 86.64% ปั๊มน้ำมัน 73.09% และแหล่งท่องเที่ยว 58.66% นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาสุขาสาธารณะและมีการคัดเลือกสุดยอดสุขาแห่งปี ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีสุขาสาธารณะได้มาตรฐานเกิน 70% แล้ว ปี 2560 นี้ มีการมอบรางวัล 15 สุดยอดสุขาแห่งปี เนื่องในวันสุขาโลก จากการคัดเลือกกว่าหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ ซึ่งสถานที่เหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการพัฒนาสุขาสาธารณะ ดังนี้

 1.ห้างหุ้นส่วนจำกัดกุดชุมออยล์ อ.กุดชุม จ.ยโสธร

 2.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร

 3.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา

 4.โรงเรียนวัดจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

 5.วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

 6.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น

 7.ร้านอาหารนิวไก่ย่างบัวตอง สาขา 2 อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์

 8.บริษัท ศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 9.วัดธรรมยาน อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

 10.โรงพยาบาลกลาง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

 11.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

 12.องค์การบริหารส่วนตำบลบึงทับแรต อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร

 13.เทศบาลเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

 14.ตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่

 15.สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

 นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานการแถลงข่าวรณรงค์วันสุขาโลก ว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีและใช้สุขาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2503 ในรูปของโครงการพัฒนาอนามัยท้องถิ่น ปัญหาด้านสุขภาพส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคและแบคทีเรียที่มากับน้ำ

 โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากน้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูล อุจจาระและของเสียต่างๆ ที่ประชาชนนำมาทิ้งลงน้ำ แหล่งน้ำบางแห่งจึงเป็นที่ก่อโรคร้ายต่าง ๆ แม้โรคเหล่านี้อาจจะไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิตในทันที แต่หากสะสมมาก ๆ ก็อาจเสียชีวิตได้ ประชาชนต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศด้วย

 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในงานเดียวกันว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการแผนแม่บทพัฒนาสุขาสาธารณะไทย ระยะที่ 3 โดยขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆให้มีระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล โดยในปีนี้ ได้เร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล พ.ศ. 2560-2569 ซึ่งจะเสนอ ครม.ต้นปีหน้า

 สาระสำคัญให้มีโถส้วมแบบนั่งราบอย่างน้อยหนึ่งที่ไว้บริการผู้สูงอายุและป้องกันโรคเข่าเสื่อมจากการใช้ส้วมแบบนั่งยองเป็นเวลานาน สนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงการบริการสุขาสาธารณะเพิ่มมากขึ้น และออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการสิ่งปฏิกูล โดย 10 ปีที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินการตามแผน และพบว่ามีสุขาสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 71.04% และลดการเจ็บป่วยจากการสัมผัสเชื้อโรคจากส้วมได้ 

สุขาสาธารณะแสนไฉไล ปลดทุกข์คลายใจ...สบายๆ

กทม.ก็มีสุดยอดสุขาสาธารณะ 2560

 ปัจจุบันสุขาสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 40-50% เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ ซึ่ง กทม.จะยกระดับส้วมสาธารณะ ซึ่งจะเตรียมนำร่องในโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 438 แห่ง และหน่วยงานราชการของ กทม.ก่อน เพื่อให้เป็นแบบอย่างการพัฒนาห้องน้ำสาธารณะในที่อื่นๆ เช่น ห้องน้ำตามสวนสาธารณะ ห้องน้ำในปั๊มน้ำมัน โดยคาดว่าเร็วๆ นี้จะเริ่มดำเนินการได้

 สุดยอดสุขาสาธารณะปี 2560 ซึ่งโครงการการพัฒนาการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร (Bangkok Clean and Green) เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้มีการพัฒนาสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน และจัดให้มีกิจกรรมการประกวดสุดยอดห้องน้ำแห่งปีของกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศผลผ่านพ้นไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสุขอนามัย จึงจัดกิจกรรมประกวดสุดยอดห้องน้ำแห่งปี ของ กทม.มาตั้งแต่ปี 2552 โดยในปี 2560 นี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมประกวดจำนวน 96 แห่ง ปรากฏว่า มีสถานที่ได้รับรางวัลสุดยอดห้องน้ำแห่งปีจำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย  

 1.สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

 2.ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2555 อาคารบีชั้น 1 ทิศเหนือ

 3.วัดปากน้ำภาษีเจริญ

 4.โรงเรียนวัดช่องนนทรี

 5.โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์

 6.ร้านอาหารเพลิน

 7.สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ห้างหุ้นส่วนจำกัดมนเทียรรุ่งเรือง สาขา 5 (Shell)

 8.ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า

 9.สวนสาธารณะหนองจอก

 10.สถานีรถไฟดอนเมือง

 ทั้งนี้ หน่วยงานหรือสถานที่ที่ได้รับรางวัลสุดยอดห้องน้ำแห่งปีระดับกรุงเทพมหานครจะได้รับการส่งเข้าประกวดสุดยอดห้องน้ำในระดับประเทศ ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมเข้าประกวดสุดยอดส้วมในระดับประเทศ โดยในปี 2560 โดยมีส้วม 3 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลของ กทม.ได้รับรางวัลสุดยอดส้วม ก็คือสวนวชิรเบญจทัศ หรือ ชสวนรถไฟ ที่อยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น หน่วยงานของ กทม.ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ และโรงเรียนวัดจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์

สุขาสาธารณะแสนไฉไล ปลดทุกข์คลายใจ...สบายๆ

 นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลห้องน้ำมาตรฐานดีเด่น จำนวน 19 แห่ง ซึ่งเป็นห้องน้ำสาธารณะที่ได้มาตรฐานและมีความโดดเด่นตามบริบทของแต่ละสถานที่ แบ่งเป็น กลุ่มสถานที่ราชการ ได้แก่ สำนักงานเขตประเวศ เขตจอมทอง เขตบางซื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม

 กลุ่มศาสนสถาน ได้แก่ วัดสิริกมลาวาส และวัดเจ้าอาม

 กลุ่มสถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนวัดราชนัดดา โรงเรียนวัดสุขใจ โรงเรียนนานาชาติ NIST

 กลุ่มร้านอาหาร ได้แก่ ร้านส้มตำเจ้าคุณ ร้านพระราม 9 ไก่ย่าง

 กลุ่มสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ บริษัท บางจากกรีนเนท สาขาพหลโยธิน กม.22 บริษัท เจตน์แอนด์จิน เอเนอร์จี (PTT) บริษัท ตากสินบริการ (Shell)

 กลุ่มห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี่ เอ็มควอเทียร์ แม็คโคร จอมทอง และเซ็นทรัลซิตี้ บางนา

 พงศธร ศิริธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ กล่าวในงานมอบรางวัลสุดยอดสุขาสาธารณะของกรุงเทพมหานครในตอนนั้นว่า ห้องน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนจะเข้ามาใช้บริการ หากห้องน้ำไม่ดีหรือไม่สะอาดจะทำให้ผู้คนไม่ประทับใจในการรับบริการจากสำนักงานเขต ทั้งนี้ ก่อนที่จะได้รับรางวัลสุดยอดส้วมประจำปี ห้องสุขาที่เขตก็มีความสะอาด เพียงแต่เก่าเนื่องจากมีการใช้งานมานานกว่า 46 ปี จึงต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ภายใต้แนวคิดปรับปรุงห้องสุขาอย่างทันสมัย ให้สะอาด ดูดี น่าใช้ ให้ประชาชนเข้าห้องน้ำอย่างมีความสุข และประหยัดงบประมาณมากที่สุด

 ในงานเดียวกันนั้น วรชัย ตั้งคุณาภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการวิศวกรรมและบริหารจัดการอาคาร ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ บอกว่า ห้องน้ำที่ศูนย์ราชการฯ ใช้งานมานานกว่า 10 ปี มีสภาพเสื่อมโทรม จึงอยากปรับปรุงให้ดีขึ้น ภายใต้แนวคิดการประหยัดพลังงานโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ควบคุมแสงสว่างอย่างเพียงพอ ใช้ไฟแอลอีดี ระบบก๊อกน้ำเป็นระบบเซ็นเซอร์ และดูแลไม่ให้มีกลิ่นเหม็นในห้องน้ำ

 เขาบอกอีกว่า รู้สึกดีใจที่ศูนย์ราชการฯ ได้รับรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปี หลังจากนี้จะทยอยปรับปรุงห้องน้ำภายในศูนย์ราชการฯ ให้ดีขึ้นและได้มาตรฐาน โดยมีห้องน้ำที่ได้รับรางวัลเป็นแบบอย่างในการพัฒนา แต่รูปแบบการปรับปรุงอาจจะมีการปรับแบบ ซึ่งฝ่ายจัดการอาคารจะเป็นผู้พิจารณาแนวคิดการปรับปรุงห้องน้ำ

 นั่นคือความมุ่งมั่นในการพัฒนาห้องน้ำสาธารณะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอความร่วมมือการใช้สุขาสาธารณะอย่างมีจิตสำนึกที่ดี เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร

 มาร่วมปรับปรุงสุขาสาธารณะให้ได้มาตรฐาน มีความสะอาด สะดวก โล่ง โปร่ง สบาย ประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะห้องน้ำผู้พิการ โดยช่วยกันรักษาความสะอาดสุขาสาธารณะ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของทุกคนที่ใช้บริการสุขาสาธารณะทุกแห่ง