posttoday

ชาวบ้านทวงความคืบหน้าคดีเหมืองทองพิจิตร

20 พฤศจิกายน 2560

ชาวบ้านรอบเหมืองทอง จ.พิจิตร และกลุ่มปฏิรูปทรัพยากร ทวงถามความคืบหน้าคดีต่อ อธิบดีดีเอสไอ

ชาวบ้านรอบเหมืองทอง จ.พิจิตร และกลุ่มปฏิรูปทรัพยากร ทวงถามความคืบหน้าคดีต่อ อธิบดีดีเอสไอ

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. เวลา 14.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ รองประธานกลุ่มประชาสังคมปฎิรูปทรัพยากรและทองคำ พร้อมตัวแทนผู้เสียหาย เดินทางยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อทวงถามความคืบหน้าขอให้เร่งรัดและดำเนินคดีเกี่ยวกับตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด ( มหาชน ) ทำเหมืองทองคำใน จ.พิจิตร จำนวน 1.5 หมื่นไร่ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และรองโฆษกดีเอสไอ เป็นผู้ลงมารับเรื่อง

นางวันเพ็ญ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ดีเอสไอ ได้รับคดีเรื่องที่ดินของการทำเหมือง การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การทำเหมืองนอกประทานบัตร และการทำเหมืองในที่สาธารณะไว้เป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี 2559 พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพยานหลักฐานแต่คดียังไม่มีความชัดเจน จึงเดินทางมาทวงถามความคืบหน้าและขั้นตอนในการดำเนินคดี เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวข้องระหว่างประเทศ ชาวบ้านทุกคนไม่ทราบข้อกฎหมายระหว่างประเทศเกรงว่าจะหมดอายุความก่อนจะมีการดำเนินคดี

ทั้งนี้ ขอให้ดีเอสไอรับเรื่องของน้ำและสิ่งแวดล้อมเป็นคดีพิเศษด้วย และช่วยพิจารณาเรื่องของการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้าน 1. ค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ดิน, น้ำ, และป่าไม้ 2. ค่าเสียหายต่อสาธารณะ 3. ค่าเสียหายต่อสินแร่ทองคำและแร่เงินของประเทศที่ทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ไม่ได้ขอประทานบัตร ทั้งนี้ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครองพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายให้แก่ประเทศไทยให้ครบถ้วน โดยเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย นอกจากนี้ อยากให้ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องการฟอกเงินของบริษัทดังกล่าวด้วยเนื่องจากอยู่ในอำนาจ

"คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติจะเป็นผู้กำหนดแหล่งแร่เพื่อพัฒนาแหล่งแร่นั้นและต้องไม่ประกาศเขตพัฒนาแหล่งแร่ทับที่ทำกินของประชาชน เพราะจะทำเกิดผลกระทบต่อชีวิตเป็นอย่างมากและการทำเหมืองแร่ก็ไม่สามารถใช้ที่ดินทำกินนั้นได้อีกเลยซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง ประชาชนรอบเหมืองทองคำ บริษัท อัคราฯ ยังไม่ได้รับการรับรองว่าไม่มีสิ่งปนเปื้อนออกมาสู่ภายนอกแต่อย่างใด ดังนั้น ควรดำเนินการแก้ไขให้หายเสียก่อน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนปฎิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท อัคราฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงผังโครงการ การย้ายบ่อกากแร่ใกล้ชุมชน เป็นต้น"นางวันเพ็ญ กล่าว

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ดีเอสไอ ได้รับเรื่องเป็นคดีพิเศษไว้ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2559 ซึ่งหากสอบสวนพบว่ามีความผิดจะทำการขยายผลและจะแจ้งผลให้ทราบทันที แต่ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับใครทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม วันนี้ดีเอสไอจะรับเรื่องน้ำเสียไว้เพิ่มเติม ส่วนคดีสิ่งแวดล้อมหากพยานหลักฐานไปถึงก็จะรับไว้ เบื้องต้นวางแผนกรอบเวลาดำเนินคดีให้เสร็จภายใน 31 มี.ค.2561