posttoday

วางกระเป๋า-นั่งกินที่ พฤติกรรมบนรถไฟฟ้าสายสีม่วง

18 พฤศจิกายน 2560

ในฐานะคนเดินทางด้วยระบบรถโดยสารสาธารณะ

โดย วรรณโชค ไชยสะอาด

ในฐานะคนเดินทางด้วยระบบรถโดยสารสาธารณะ ขอแสดงความยินดีด้วยกับตัวเลขผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เพิ่มขึ้นเกือบ 6 หมื่นคน/วัน หลังการเชื่อมต่อสถานีเตาปูนและสถานีบางซื่อ

กระทรวงคมนาคม ระบุว่า จำนวน 1 สถานี ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 11-31 ส.ค. 2560 ปรากฏว่าจำนวนผู้โดยสารวันธรรมดาหลังการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นสูงถึง 47.18% จากเฉลี่ย 33,130 คน/วัน เป็น 48,760 คน/วัน และจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.ย. 2560 ปรากฏว่ามีจำนวนผู้โดยสารถึง 59,431 คน/วัน สูงสุดนับตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีม่วงเริ่มเปิดให้บริการ

ผมและคนอื่นๆ ดีใจได้ไม่นานก็เกิดอาการเซ็งเล็กๆ เมื่อรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อาศัยจังหวะได้ผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น “เบี้ยว” ข้อตกลงเดิม ประกาศยกเลิกโปรโมชั่นค่าโดยสารสายสีม่วงกลับไปใช้ราคาเดิม 14-42 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ซะเลย จากเดิมที่จะให้ใช้โปรถึงสิ้นปี กลับไปคิดค่าโดยสารต่อสถานีละ 2 บาท แต่ยังคงอัตราค่าโดยสารแรกเข้าไว้ที่ 14 บาท ส่วนโปรโมชั่นค่าโดยสารในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่เคยคิดในอัตรา 15 บาทตลอดสายนั้นก็จะยกเลิกเช่นกัน

ผลกระทบคือ เดิมหากนั่งจากกระทรวงสาธารณสุขถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในราคา 46 บาท จะกลายเป็น 52 บาท หรือจากวันละ 92 เป็น 104 บาท โอ้ววว...

งานนี้ รฟม.จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเฉลี่ยวันละ 1.68 แสนบาท จากผู้โดยสารราว 5.2 หมื่นคน/วัน ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ขณะที่วันหยุดมีประมาณ 3.4 หมื่นคน มีรายได้เฉลี่ย 5.6 แสนบาท/วัน หรือคิดเป็นเดือนละ 16.8 ล้านบาท โดยรัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนโครงการดังกล่าวตกเดือนละ 5 ล้านบาท

นั่นคือเรื่องตัวเลขกำไรและขาดทุน รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของรถไฟฟ้าสายสีม่วง

ส่วนอีกเรื่องที่ผมอยากเล่าให้ฟังคือ พฤติกรรมการใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงของผู้คนซึ่งแตกต่างจากรถไฟฟ้าสองสายเดิมอย่างสีเขียวและสีน้ำเงินมาก

สังเกตมาหลายเดือน ผู้ใช้งานรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีใต้ดิน คนนั่งจะมีความระมัดระวังตัว ท่าทีเกรงใจและดูพร้อมเสียสละ โดยมากจะนั่งขาแขนชิด เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้อื่นไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนก็ตาม (มีบ้างที่ไม่เป็นแบบนั้น)

 แต่ลองไปดูภาษากายผู้คนในสายสีม่วงสิครับ อาจเพราะความเคยชินตั้งแต่สมัยเปิดใช้งานใหม่ๆ ที่ยังไม่มีการเชื่อมต่อ มีที่นอนเยอะกว่าที่นั่ง เลยพากันนั่งเหมือนอยู่บ้าน ก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์ แหกขากางแขน เอากระเป๋าสัมภาระมาวางไว้บนเก้าอี้ ความกดดันตกไปอยู่กับคนที่ขึ้นมาใหม่ กลายเป็นว่าที่ว่างนั้นมีจริงแต่ไม่กล้านั่ง เพราะแต่ละคนเล่นแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ด้านข้างทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว

ผมเคยเจอประสบการณ์แย่ เมื่อเดินเข้าไปบอกว่า “ขอโทษนะครับ” กับคนที่มีพฤติกรรมวางกระเป๋าไว้บนเก้าอี้ เพื่อจะขอนั่งข้างๆ เขากลับทำหน้าไม่พอใจ แววตาไม่อยากเป็นมิตร เหมือนจะบอกว่า “ทำไมไม่ไปนั่งที่อื่น ไม่เห็นเหรอไงว่าฉันมีกระเป๋า”

หลังจากนั้นเลยรู้สึกเขินๆ เวลาเจอคนวางกระเป๋าหรือนั่งอ้าขากว้างๆ ไม่กล้าเข้าไปเอ่ยปากขอโทษนะครับ ยืนแทนดีกว่า

เล่าเรื่องนี้ให้ฟังฮาๆ เข้าใจดีว่าพฤติกรรมการนั่งมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนไปตามความหนาแน่นในการใช้งาน หากอนาคตผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น คนนั่งก็จะมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงและพร้อมเอื้อเฟื้อกันมากขึ้นตามแรงกดดันจากสภาพแวดล้อม

ลองไปนั่งและสังเกตดูครับ สนุกดี ยิ่งนั่งมาจากสายสีม่วงก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน จะเห็นเลยว่าท่าทีของคนนั้นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน