posttoday

รักษ์ข้ามคลอง ตามติดกลุ่มคนเมืองผู้พิชิตขยะในน้ำ

18 พฤศจิกายน 2560

โครงการรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงคูคลอง ยิ่งทิ้ง ยิ่งท่วม เพื่อรณรงค์ ของกรุงเทพมหานคร

โดย สมแขก, พริบพันดาว ภาพ : Trash Hero Thailand

 โครงการรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงคูคลอง ยิ่งทิ้ง ยิ่งท่วม เพื่อรณรงค์ ของกรุงเทพมหานคร ได้เคยขอความร่วมมือประชาชนงดทิ้งขยะลงแม่น้ำ คูคลอง เพื่อเป็นการป้องกันขยะอุดตันทางระบายน้ำ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของ กทม.

 สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การระบายน้ำของกรุงเทพมหานครทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร คือปัญหาขยะในแม่น้ำ คูคลอง และขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำ การจัดเก็บขยะในแม่น้ำ คูคลองต่างๆ ให้หมดนั้น ทำได้ค่อนข้างลำบาก ต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมากในการจัดเก็บ

 การดำเนินการรณรงค์ไม่ให้มีการทิ้งขยะลงบนแหล่งน้ำสาธารณะ การกำจัดสิ่งปฏิกูล เช่น ผักตบชวา การเปิดทางน้ำไหลเชื่อมคลองทุกจุดให้ถึงกัน เวลาฝนตก น้ำจะได้ระบายออกไป การบำบัดน้ำในคลองต้นทาง และที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ประชาชนถึงการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งลงสู่คลอง

 กรุงเทพมหานครสามารถเก็บขยะในแม่น้ำ คูคลอง รวมถึงหน้าสถานีสูบน้ำได้ประมาณวันละ 10 ตัน และในวันที่ฝนตกขยะจะมีมากขึ้นถึงประมาณวันละ 20 ตัน ถือเป็นปริมาณที่เยอะมาก

 เมื่อเทียบกับการจัดเก็บขยะบนบกเนื่องจากทำได้ค่อนข้างลำบาก ความร่วมมือกันไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ คูคลอง เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะ ป้องกันการอุดตันในท่อระบายน้ำ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และต้องสร้างวินัยอย่างเคร่งครัดและเร่งด่วน

รักษ์ข้ามคลอง ตามติดกลุ่มคนเมืองผู้พิชิตขยะในน้ำ

 หากผู้ใดทิ้งขยะในที่สาธารณะ ได้แก่ ทิ้งขยะลงพื้น ถ่มน้ำลาย ทิ้งก้นบุหรี่ ถือว่ามีความผิด โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และหากทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองมีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ที่ผ่านมาสำนักเทศกิจสามารถจับปรับผู้ฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด เฉลี่ยปีละประมาณ 300 ล้านบาท พื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ เขตพระนคร

 ขยะที่ทิ้งลงแม่น้ำทำให้เกิดน้ำเสีย ซึ่งมีทั้งสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ เชื้อโรค และสารพิษต่างๆ เจือปนอยู่ ทำให้บริเวณนั้นเกิดความสกปรกและความเสื่อมโทรมของพื้นดิน นอกจากนั้นสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เจือปนในน้ำ ก็จะทำให้ระบบนิเวศทางน้ำทำให้สัตว์น้ำบางชนิดสูญพันธุ์อีกด้วย

 ปัญหามลพิษทางน้ำ จากข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร บันทึกว่าคลองในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 1,161 คลอง และคูลำกระโดง จำนวน 521 คู รวมเป็น 1,682 คูคลอง มีความยาวทั้งหมด 2,604 กิโลเมตร ปัจจุบันพบว่าคลองในเมืองส่วนใหญ่เน่าเสีย

 ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ ระบุชัดว่าน้ำเสียส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านการบำบัดมาจากอาคารบ้านเรือน ที่พักอาศัย โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า ตลาด โรงพยาบาล หรือสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำทิ้งไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวัน พอสะสมลงในแม่น้ำลำคลองนานๆ เข้าจึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 แม่น้ำลำคลองต่างๆ ใน กทม. นอกจากเจอน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ลำน้ำสาธารณะอย่างไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือการทิ้งขยะที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ที่โยนลงคลองอย่างมักง่าย บางชุมชนอ้างว่าไม่ได้ทิ้งขยะลงคลอง แต่ไปทิ้งลงหลังบ้าน ทั้งๆ ที่หลังบ้านของตัวเองเป็นพื้นที่น้ำไหลลงคลองเมื่อฝนตก

 ขยะเหล่านั้นจึงถูกน้ำพัดไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองอยู่ดี หรือบางครั้งเมื่อเกิดฝนตกก็จะเอาเศษขยะเหล่านั้นไหลลงคลองไปอีกเช่นกัน เมื่อสิ่งสกปรกเหล่านี้ไปหมักหมมรวมกันในลำคลองมากๆ เข้า ค่าออกซิเจนในน้ำจึงค่อยๆ ลดลงๆ จนในที่สุดก็เกิดการเน่าเสีย และไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำและสัตว์อื่นๆ รวมถึงเป็นปัญหาหลักของการเกิดน้ำท่วม เนื่องจากน้ำระบายไม่ทันหรือระบายไม่ได้ตอนฝนตกหนัก

รักษ์ข้ามคลอง ตามติดกลุ่มคนเมืองผู้พิชิตขยะในน้ำ

Trash Hero คนเมืองผู้พิชิตกองขยะ

 สถิติของกรุงเทพมหานคร ปริมาณขยะที่เก็บได้จากแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 70 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงปากทางแม่น้ำ เฉลี่ย 18 ตัน/วัน และจากคูคลอง (ตัวเลขจากหน้าตะแกรง) เฉลี่ย 69 ตัน/วัน ซึ่งขยะที่พบในแม่น้ำลำคลองสร้างผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และระบบการระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วม

 ถ้าพูดถึงกลุ่มคนเมืองที่ทุ่มเทเรื่องการดูแลขยะในน้ำและทะเลอย่างแข็งขัน และเครือข่ายเหนียวแน่นต้องนึกถึงกลุ่ม Trash Hero Thailand

 ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง “หมึก” ศักดาเดช สุดแสวง อดีตครีเอทีฟที่ผันตัวมาเป็นแกนนำประสานงานเครือข่ายอย่างเต็มตัว ในการขับเคลื่อนกิจกรรมและเป็นศูนย์กลางของคนเมืองผู้พิชิตกองขยะทั้งประเทศ ก่อตั้งเป็น Trash Hero Thailand ขึ้นมา

 เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานเล็กๆ ในช่วงเริ่มต้นพวกเขาทำการรณรงค์การลดการใช้ถุงพลาสติก เก็บขยะพลาสติกในท้องทะเลก่อน เพื่อสร้างความหมายของคำว่า “ท่องเที่ยว” ให้เป็นมากกว่าการพักผ่อน แต่ยังสามารถคงความงดงามให้ธรรมชาติบนสถานที่ท่องเที่ยวไม่ให้ถูกทำลายด้วยขยะ

 ในช่วงหนึ่งปีของงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พวกเขาเป็นอีกเรี่ยวแรงสำคัญในการเนรมิตคูคลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์สะอาดน่ามอง ผ่านมากว่า 2 ปี เครือข่ายของ Trash Hero ขยายกว้างขึ้นทั้งในเมืองไทย

 โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พวกเขาสร้างโมเดลการทำงานกันอย่างเป็นระบบ โดยมีการวางแผนระยะยาวในการจัดการขยะทั้งที่มีอยู่เดิมและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสื่อสารผ่านช่องทาง facebook.com/trashherothailand

 “อ้อม” ธนัชกัญ สุนทรวงษ์ กับ “ปอ” อังค์วรา พึ่งธรรม สองสาวจาก We SUP Thailand Starboard ในฐานะตัวแทนของ Trash hero Bangkok เล่าถึงการทำงานของกลุ่ม Trash Hero ที่เริ่มต้นจากความรักในทะเลและสายน้ำ อ้อม เล่าว่า

 “พวกเราเป็นนักกีฬาทางน้ำ เห็นผลกระทบเรื่องขยะในทะเลอยู่ตลอดมา ในฐานะที่เราทำงานกับน้ำ เพราะบริษัท สตาร์บอร์ด เป็นบริษัทที่ดูแลเกี่ยวกับกีฬาทางน้ำ ทำให้พวกเราสนใจกิจกรรมของ Trash Hero ได้รู้จักพี่หมึกเขาก็ชวนมาทำ เราก็ชอบเห็นดีด้วยก็เลยเอาตัวบอร์ดไปลงช่วยพี่หมึกเก็บขยะในคลองก่อน

 ตอนแรกจะเก็บในคลองที่บึง คลองบางพลีทุกอาทิตย์ เก็บขยะพลาสติก แยกขยะทุกอาทิตย์ พี่หมึกก่อตั้งให้เราเป็น Trash Hero Bangkok ประมาณ 1 หนึ่งปีครึ่ง ซึ่งปกติจะไปทั่วโลก เราดูแลภาคทางน้ำโดยการเอาบอร์ดไปลงพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนที่มีจิตอาสาช่วยกันเก็บขยะ”

 ปอ กล่าวในฐานะคนเมืองที่เคยอยากมีส่วนร่วมในการลดขยะ และเคยช่วยในแบบที่แต่ละคนถนัดว่า

 “ตอนที่ยังไม่ได้ลงไปทำกิจกรรม เราก็เหมือนคนทั่วไป ขยะอันไหนที่เก็บได้เราก็เก็บ พอเราไปรวมกลุ่ม แล้วไปเห็นสถานที่จริงที่เราละเลยไป เพราะบ้านเราไม่ได้อยู่ริมน้ำ และเราไม่ได้เห็นมันทุกวัน เราก็จะเห็นแค่ขับรถผ่าน ก็แค่พูดว่าขยะเยอะจัง สกปรกจัง แต่เรายังไม่เคยลงมือทำจริงๆ

 พอมีโอกาสลงมือทำ แล้วก็คิดได้ทันทีว่า เฮ้ย! ไม่ได้แล้วต้องทำ ถ้าเกิดเราไม่เริ่มทำแล้วใครจะเริ่ม เริ่มจากตัวเองก่อน จนพอเราไปทำก็รู้สึกดีที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งก็ทำให้เพิ่มจำนวนคนที่มาช่วยเราเก็บได้มากขึ้น ปอว่าคนโดยทั่วไปมีจิตที่อยากจะช่วย แต่บางทีเขาก็ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เมื่อปอและอ้อมได้เริ่มทำกิจกรรมจริงจัง พวกเราจะเห็นมากกว่าคนอื่นเห็นคือพบว่าคลองที่อยู่ตามจุดต่างๆ แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ สวยมาก ถ้าไม่มีขยะและน้ำเสีย ทำไมเราไม่ทำให้มันดี ทำไมไม่มาร่วมสร้างจิตสำนึกให้คนทั่วไป เสริมจิตสำนึกของคนที่พักอยู่ริมคลอง

 บางทีเราไปก็เจอทั้งชาวบ้านที่น่ารัก และชาวบ้านฝั่งที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ คนจะมองว่าพวกเราเป็นคนเก็บขยะ เคยเจอประมาณว่าเราพายบอร์ดอยู่ก็มีคนโยนถุงขยะลงมาจากบ้านเขาต่อหน้าต่อตา ที่กลุ่มเราเข้าไปไม่ได้ต้องการอะไรเลย แค่อยากสร้างจิตสำนึกของเขา โดยเปลี่ยนที่ตัวเราก่อน ทำให้เขาเห็นไปเรื่อยๆ จนเขายอมเปลี่ยน พวกเราเป็นคนนอกอาสาเข้าไปช่วยกระตุ้นให้เขาเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเรื่องการดูแลที่อาศัยของเขา ดูแลแม่น้ำลำคลอง”

รักษ์ข้ามคลอง ตามติดกลุ่มคนเมืองผู้พิชิตขยะในน้ำ

ขยะน้อยนิด ส่งผลมหาศาล

 ปัญหาน้ำเสียเกิดจากทุกคนทิ้งขยะลงแม่น้ำ จึงทำให้แม่น้ำเกิดความเน่าเสียและมีขยะมากมายส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนที่อยู่รอบข้างมีขยะมากมายอยู่ในแม่น้ำทำให้เกิดกลิ่นหม็น ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ปัญหา ทุกคนเป็นต้นเหตุในการทำให้น้ำเน่าเสียแต่คนไม่ช่วยกันรักษา น้ำเน่าเสียจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ วิธีแก้ปัญหาก็คือไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ ทำชีวภาพบำบัด และช่วยกันดูแลความสะอาด

 อ้อม ธนัชกัญ เล่าเสริมว่า ขยะที่หลายคนคิดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยอย่างเช่นยางวง หลอด หรือพลาสติกชิ้นเล็กๆ อย่างฝาขวดน้ำดื่ม ส่งผลกระทบมากเกินกว่าจะนึกถึง ไม่ต้องรอถึงลูกหลาน แค่วันนี้ฝนตกเพียงไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็ท่วมเมืองแล้ว สาเหตุหนึ่งมาจากขยะที่คนเมืองทิ้งขว้างไม่ถูกทาง

 “เวลาไปเก็บขยะ สิ่งที่เราเจอมากที่สุดก็คือหลอด ยางวง ฝาขวดพลาสติก ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้ใช้เวลาเป็นร้อยปีในการย่อยสลาย ถ้าเราไม่รีบรณรงค์กันตอนนี้ อนาคตขยะจะมหาศาลแค่ไหน ทุกคนมองข้ามเพราะเอาแต่สะดวกสบายไว้ก่อน คนหนึ่งใช้ถุงพลาสติกกี่ใบก็ไม่รู้ในหนึ่งวัน

 ทุกอย่างมีผลกระทบหมด ขยะพลาสติกในทะเลจะเห็นได้ชัด พลาสติกลงทะเล สัตว์ในทะเลกินพลาสติก เราเอาสัตว์มากิน เราก็ได้สารพลาสติก สารพิษ เป็นวัฏจักร ผลกระทบไม่ได้เป็นแค่ขยะชิ้นเดียวที่เราทิ้งไป ทุกอย่างคือผลกระทบกลับมาหมด”

 ปอ ย้ำว่าพวกเราคนเมืองต้องยอมรับก่อนว่าผลกระทบทุกอย่างมาจากพวกเรา ไม่ว่าจะน้ำท่วมอะไรก็ตาม สาเหตุมาจากขยะที่มันไปอุดตันในท่อ แต่คนหลงลืมไปและมองข้ามไปว่าระบบมีปัญหา

 “แต่ลืมมองไปว่าเราทิ้งขยะกันไม่เลือกที่ จนขยะจำนวนมากไปอุดตัน จริงๆ ระบบน่าจะโอเคระดับหนึ่ง แต่ขยะที่คุณทิ้งๆ กันไปปิดปากท่อ บางทีเราไปเก็บขยะต้องขุดปากท่อ เห็นถุงพลาสติก หลอด ทุกอย่างอุดตรงระแนง เราก็ต้องคุ้ยออกมา

 พลาสติกนี่คือตัวการสำคัญ บางทีเราคิดว่ามันเป็นแค่ขยะชิ้นเดียว ถุงแค่ใบเดียว แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้จะมหาศาลขนาดไหน ถ้ามองของเราก็ไม่มาก แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้กันหมด วันหนึ่งคนละห้าถุง ก็เยอะนะ ในภาพรวมแล้วผลกระทบมันมหาศาลมากเกินกว่าที่เรานึกถึง” ตัวแทนจาก Trash Hero Bangkok ให้ภาพ

เปลี่ยนอนาคตให้เริ่มที่เด็ก

รักษ์ข้ามคลอง ตามติดกลุ่มคนเมืองผู้พิชิตขยะในน้ำ

 การปลุกจิตสำนึกให้กับเยาวชนในการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์น้ำ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาคุณภาพของแหล่งน้ำ รณรงค์ให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ มีการบำบัดและขจัดสารพิษก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ รณรงค์ให้ช่วยกันลดปริมาณการใช้น้ำ และลดปริมาณขยะในครัวเรือน ช่วยกันป้องกันน้ำเน่าเสีย ไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลหรือสารพิษลงในแหล่งน้ำ หรือท่อระบายน้ำ

 ปัญหาน้ำเน่าเสียหรือการเกิดมลพิษทางน้ำ ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก เยาวชน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักถึงผลเสียและรับรู้การป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียอย่างถูกต้อง เป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำอย่างถูกวิธีและได้ผลอย่างยั่งยืน

 สองสาวจาก Trash Hero Bangkok พยายามเริ่มต้นจากตัวเองแล้วกระจายไปถึงคนรอบข้าง เริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆ ใช้พลังของโซเชียลเน็ตเวิร์กขยายกลุ่ม และใช้ความถี่ของกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการลดปริมาณขยะ ปอ บอกว่า

 “เราไปบอกให้ใครไปเก็บขยะทุกคนไม่ได้ เราพายเรือไปแล้วบอกชาวบ้านให้เก็บขยะไม่ได้ถ้าเขาไม่อยากจะทำ แต่เราจะทำจนกว่าคุณจะมาช่วยเรา จนกว่าคุณจะเข้าใจในสิ่งที่พวกเราพยายามจะทำ”

 อ้อม เสริมอีกแรงว่า “สิ่งที่กลุ่ม Trash Hero Bangkok ทำ ก็คือการเปลี่ยนคน

 “เราจะช่วยกันเปลี่ยนคน สร้างจิตสำนึก ไม่ใช่แค่เก็บขยะอย่างเดียว แต่เรายังพยายามลดขยะที่จะเกิดจากเราเองให้น้อยที่สุด อย่าง Trash Hero จะมีถุงเพื่อให้เราใช้ อย่างกระบอกน้ำส่วนตัวให้เติมน้ำเอา เราลดการใช้ขวดพลาสติกได้ เริ่มจากตัวเองในการไม่เพิ่มปริมาณขยะซึ่งมีหลายทาง

 การลงพื้นที่เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชน วิธีการหลักๆ ของเราก็คือการพาซับ (SUP) ไปช่วยเก็บ เราไปเก็บขยะให้เขาดู ประโยชน์ของบอร์ดคือการเข้าถึงพื้นที่ตามซอกตามหลืบ ก็เลยเอาประโยชน์ของซับมาใช้ บวกกับว่าเราเล่นกันอยู่แล้วก็ทำให้เป็นประโยชน์มากขึ้น สอนคนในชุมชน ปลูกฝังให้ความรู้

 เราเอาซับไปจุดแรกเขาไม่คิดว่าจะมาเก็บขยะ แต่เขาอยากลองเล่นบอร์ด แต่พอเขามาลองเราก็ให้ข้อมูลเขาเรื่องขยะ รณรงค์ไปในตัว ในทุกที่ที่เราไปจะมีเด็กมาเยอะมาก ดังนั้นเมื่อเราเปลี่ยนความคิดคนโตไม่ได้ แต่เด็กเราสร้างได้จึงจัดเป็นกิจกรรมเสริมของ Trash Hero เป็น Trash Hero Kids ปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ เหมือนตาวิเศษในรุ่นเรา"

 อ้อม บอกว่าการร่วมกิจกรรมกับ Trash Hero Bangkok ไม่ยากเลย ไม่จำเป็นต้องพายบอร์ดเป็น จะมีการสอนวิธีพายขั้นต้น แล้วจะมีบอร์ดใหญ่ที่สามารถลงได้ประมาณ 10 กว่าคน

 “คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นพายไม่แข็งก็จะให้ช่วยกัน คนที่สนใจร่วมกิจกรรมกับเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าช่วงหลังโซเชียลช่วยเราได้เยอะมาก ไปทำก็ไม่ได้ประกาศ แต่เราจะชวนเพื่อนๆ ทั่วไป พอเราโพสต์รูปไปว่าขยะในน้ำ ในทะเล มีมากแค่ไหน ก็จะมีคนเพิ่มขึ้นมาทุกครั้งที่เราลงรูปไป เขาเห็นก็อยากจะมาช่วย เขาก็จะเสริมขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ต้องลงชื่อก่อน ใครอยากมามาเลย เราจะบอกวันเวลาสถานที่ไป และนัดมาเจอกัน ขอแค่คุณมีใจที่จะมาช่วยเก็บขยะแค่นั้น

 ปกติกิจกรรมของ Trash Hero Bangkok จะมีทุกอาทิตย์ ถ้าไม่ติดงานอย่างอื่น จะเก็บขยะทุกอาทิตย์ เสาร์หรืออาทิตย์

 “ตอนแรกเก็บวันธรรมดา แต่มีคนอยากให้เปลี่ยนวัน เพราะคนส่วนใหญ่ที่มาเป็นจิตอาสาก็เป็นคนทำงาน เด็กนักศึกษา แล้วเราก็จะคุยกันเองว่าจะไปที่ไหน ทุกครั้งที่ไปก็จะมีแต่เรื่องดีๆ ความรู้สึกดีๆ กลับมาทุกครั้ง เวลาเราไปชุมชนจะเตรียมขนมไว้ต้อนรับเรา และเขาก็มาขอบคุณที่ไปช่วยเขาเก็บขยะ ช่วยปลูกฝังกับคนในชุมชนให้รักแม่น้ำลำคลอง นี่เป็นความสุขของงานอาสา” อ้อม ปิดท้าย