posttoday

ปปง.ร่วม 36 แบงก์ - 5 เครือข่ายโทรศัพท์ตั้งศูนย์สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์

15 พฤศจิกายน 2560

ปปง. จับมือ 36 แบงก์ และ 5 เครือข่ายโทรศัพท์ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ปปง. จับมือ 36 แบงก์ และ 5 เครือข่ายโทรศัพท์ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาการเลขาธิการ ปปง. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" มีพฤติการณ์ในการหลอกลวงประชาชน โดยใช้กลอุบายต่างๆ เช่น การอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือผู้บริหารสำนักงาน ปปง. โทรศัพท์เข้ามาหลอกลวง ข่มขู่ ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจและหลงเชื่อโอนเงินไปให้

พล.ต.ต.รมย์สิท์ กล่าวว่า กลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว มีกระบวนการในการกระทำความผิดที่สลับซับซ้อน เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ เป็นองค์กรอาชญากรรมและอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ผ่านมามีการสืบสวนจับกุม ผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอย่างจริงจัง แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังมีแนวโน้มรุนแรงและสร้างความเสียหายตลอด

“ปปง.จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการระวังป้องกัน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ 36 แห่ง ชมรมบัตรเครดิตแห่งประเทศไทย กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5 เครือข่าย” รักษาการเลขาธิการ ปปง. กล่าว

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติที่จะปฏิบัติงานร่วมกัน เป็นมาตรการพิเศษที่เน้นการป้องกัน และการเฝ้าระวัง  เพื่อการระงับยับยั้งความเสียหายมิให้เกิดขึ้นและไม่ให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินจากการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ

นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ปปง. ( ศปก.ปปง.) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแต่ละฝ่ายได้มีการจัดตั้งผู้ประสานงานหลัก (Person of contact) ไว้ หน่วยละ 3 นาย และการกำหนดช่องทางการติดต่อสื่อสารไว้อย่างเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การประสานและการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ในเบื้องต้นนั้น สำนักงาน ปปง. กับธนาคารพาณิชย์ จะร่วมกันตรวจสอบบัญชีเงินฝากของธนาคารทั้ง 36 แห่ง ว่าเป็นบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง จนเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นบัญชีที่มีการรับจ้างเปิดบัญชีหรือเป็นบัญชีที่จะนำมาใช้ในการประกอบอาชญากรรมหรือไม่ หากพบว่าบัญชีใดอยู่ในข่ายต้องสงสัย ทางธนาคารก็จะมีการเฝ้าระวัง (Monitor) บัญชีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

“ขณะเดียวกัน ปปง.ก็จะประสานการปฏิบัติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการสืบสวนขยายผลรวบรวมพยานหลักฐาน หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งมิจฉาชีพก็จะดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวและเครือข่ายในทันที” รักษาการเลขาธิการ ปปง. กล่าว

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับพี่น้องประชาชนท่านใดถูกแก๊งมิจฉาชีพ โทรศัพท์มาหลอกลวง ขอให้รีบแจ้งไปยัง ศปก.ปปง. โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้สามารถระงับยับยั้งการถอนเงินของกลุ่มมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงที โดยโทรศัพท์แจ้งเหตุมาที่ ศปก.ปปง.( สายด่วน ฮอตไลน์ 1710 ) เมื่อเจ้าหน้าที่ประจำ ศปก.ปปง. ได้รับแจ้งเหตุ จะประสานข้อมูลไปยังธนาคารเพื่อดำเนินการระงับยับยั้ง การถอนไว้เป็นการชั่วคราว และเพื่อให้ธนาคารร่วมกับสำนักงาน ปปง. ดำเนินการตรวจสอบหรือพิสูจน์ทราบว่าบัญชีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่

นอกจากนี้ ศปก.ปปง. จะประสานข้อมูลไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว ว่าเป็นการโทรศัพท์มาจากต่างประเทศ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP หรือไม่อย่างไร เมื่อได้ข้อเท็จจริงเป็นผู้ยุติว่าเป็นการกระทำของกลุ่มมิจฉาชีพหรือแก๊ง Call Center ก็จะประสานการปฏิบัติกับพนักงานสอบสวนของฝ่ายตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย และใน ปปง. จะใช้มาตรการตามกฎหมายฟอกเงินในการดำเนินการสืบสวนสอบสวน ยึดอายัดทรัพย์สิน และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนผู้เสียหาย ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยระงับยับยั้งความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองให้กับแก๊งมิจฉาชีพอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การรับจ้างเปิดบัญชี ถือเป็นภัยร้ายแรง อย่างยิ่งต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งการรับจ้างเปิดบัญชีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา (คำพิพากษาฎีกา 831/2559) พิพากษาว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาจเป็นความอาญาผิดฐานฟอกเงินอีกฐานหนึ่ง ซึ่งมีโทษจำคุก อัตราสูงถึง 10 ปี หากพบเห็นหรือสงสัยว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์ดังกล่าว ขอให้แจ้งเบาะแสมายัง ศปก.ปปง. สายด่วน ฮอตไลน์ 1710 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ปปง.ร่วม 36 แบงก์ - 5 เครือข่ายโทรศัพท์ตั้งศูนย์สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์