posttoday

"ดีเอสไอ"จ่องัดมาตรการภาษีเจ้าหนี้ขูดรีดเกษตรกร

14 พฤศจิกายน 2560

ดีเอสไอเตรียมใช้มาตรภาษีตรวจสอบเจ้าหนี้ขูดรีดเกษตรกร3จังหวัดอีสาน หลังพบปล่อยกู้เอาเปรียบทำชาวบ้านถูกฟ้องสูญที่ดินทำกินกว่า 1,200 คดี

ดีเอสไอเตรียมใช้มาตรภาษีตรวจสอบเจ้าหนี้ขูดรีดเกษตรกร3จังหวัดอีสาน หลังพบปล่อยกู้เอาเปรียบทำชาวบ้านถูกฟ้องสูญที่ดินทำกินกว่า 1,200 คดี

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 21หน่วยจัดการประชุมหารือมาตรการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบถูกฟ้องร้องขับไล่สูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจากการทำสัญญาขายฝาก จำนอง เช่าซื้อและกู้ยืมเงิน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มลูกหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรได้ร้องขอความเป็นธรรมมายังศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯเนื่องจากได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ขายฝากและจำนอง กับกลุ่มนายทุนในพื้นที่ ซึ่งมีพฤติการณ์ทำสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบ และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหลายรายไม่ยอมย้ายออกจากที่ดินก็จะถูกกลุ่มนายทุนฟ้องร้องขับไล่มีการข่มขู่ คุกคามโดยชายฉกรรจ์ซึ่งเป็นลูกน้องกระทำการอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

ปัจจุบันมีลูกหนี้ซึ่งเป็นเกษตรกรจาก 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคามและกาฬสินธุ์ที่ได้รับความเดือดร้อน และถูกฟ้องร้องดำ เนินคดีกว่า 1,200คดี ทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องคดีกว่า 278 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าตั้งแต่ปี 2556 – 2560คดีความที่ฟ้องร้องมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเดือนม.ค.2560 มีคดีที่ฟ้องร้องต่อศาลถึง 75 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีฟ้องขับไล่ซึ่งมีมูลหนี้จากสัญญาขายฝากและลูกหนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอในการซื้อทรัพย์คืนจากเจ้าหนี้ทำให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย

"สาเหตุหนึ่งที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ประสบปัญหาดังกล่าวเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและการทำสัญญาขาดการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีจึงไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วจนเป็นเหตุให้ถูกบังคับคดีและยึดที่ดินทำกิน สร้างความเสียหายในวงกว้างจึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน"อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเจ้าหนี้ที่ไม่เข้ากระสู่กระบวนเจรจาไกล่เกลี่ย หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นธรรมกับกลุ่มลูกหนี้ดีเอสไอจะใช้มาตรการทางภาษีเข้าไปดำเนินการเพื่อตรวจสอบและขอให้กรมสรรพากรประเมินรายได้แหล่งที่มาของเงินรายได้ทั้งหมดซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่เคยใช้จัดการกับนายทุนเงินกู้นอกระบบในจังหวัดชัยภูมิมาแล้ว ซึ่งถูกประเมินภาษีย้อนหลังจากการยึดที่ดินของลูกหนี้ไปกว่า 200 ล้านบาท

ด้านพ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ. ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศในฐานะเลขานุการศูนย์ลูกหนี้ฯ กล่าวว่าดีเอสไอจะต้องเข้าไปตรวจสอบลูกหนี้เป็นรายๆไปโดยจะให้ความสำคัญกับมูลหนี้ที่แท้จริงเพราะในการทำสัญญาลูกหนี้จะนำโฉนดที่ดินไปวางจำนองและเซ็นสัญญาขายฝากในระยะเวลาสั้นๆ บางรายเซ็นสัญญาก็ไปโดยไม่กรอกตัวเลขแล้วรับเงินกู้ในวงเงินที่ตกลงไว้กับนายหน้า เมื่อถูกเรียกเก็บหนี้มูลค่าสูงเกินว่าวงเงินที่กู้ยืมจริงจึงไม่มีเงินเพียงพอไถ่ถอนที่ดินทำกิน โดยในจำนวนลูกหนี้ 1,200 รายพบลูกหนี้ในจ.ขอนแก่นมากที่สุด รองลงมาคือมหาสารคาม และกาฬสินธุ์

ขณะที่นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษาคสช.ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า เบื้องต้นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหนี้เกษตรกรทั้ง 1,200 รายกับเจ้าหนี้ 7-8 กลุ่ม และขอโอนย้ายหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)เป็นผู้แก้ปัญหาในการโอนหนี้ต่อไป

ซึ่งรัฐบาลมีแหล่งเงินเพียงพอในการช่วยเหลือโดยเกษตรกรจะต้องเข้าสู่เงื่อนไขของการฟื้นฟู คือมีการเข้าโครงการต่างๆของรัฐเพื่อเพิ่มรายได้เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าการนำเงินไปให้ประชาชนเฉยๆไม่ใช่การแก้ปัญหา วิธีการที่ถูกต้องเกษตรกรต้องมีวินัยทางการเงินรู้จักบริหารจัดการหนี้ เพราะเกษตรกรเข้าใจผิดว่าการขายฝากไม่ใช่การขายแต่ในทางกฎหมายการขายฝากที่ดินจะตกเป็นของผู้ซื้อไปแล้วเพียงแต่ให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน เมื่อชำระเงินที่กู้ยืมไปครบถ้วนการทำสัญญาโดยไม่เข้าใจของลูกหนี้คิดไปว่าไม่ใช่การขายจึงไม่ไปผ่อนชำนะหนี้ตามกำหนดปล่อยจนพ้นกำหนดตามสัญญาและนำเงินไปไถ่ถอนก็ทำไม่ได้แล้ว

“นอกจากนี้พบว่า มีอีกหลายรายที่ยอมกู้เงินโดยไม่กรอกตัวเลขในสัญญาจึงทำให้เป็นหนี้ดอกทบต้นวิธีการที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือด้วยการโอนย้ายหนี้เป็นวิธีการที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ทั่วไปที่ทำกันโดยจะเข้าไปเจรจาขอซื้อที่ดินแล้วให้เกษตรกรมาชำระหนี้ในระบบเพื่อให้มีที่ดินทำกินต่อไปโดยตั้งเป้าจะทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายภายใน 3 เดือน”นายอำนวย กล่าว

นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสำหรับเกษตรกรที่ถูกนายทุนเงินกู้ฟ้องบังคับคดียึดที่ดินจนไม่มีที่ดินทำกินก็จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเพื่อจัดสรรที่ดินให้ใช้ทำกินโดยลูกหนี้กลุ่มนี้มีคุณสมบัติที่จะไดรับการจัดสรร

นอกจากนี้จะเร่งดึงหนี้นอกระบบให้ให้เข้ามาเป็นหนี้ในระบบเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าการเป็นหนี้นอกระบบส่วนการดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุนดีเอสไอและสำนักงานอัยการสูงสุดจะรับไปดำเนินการกับนายทุนเงินกู้ที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา