posttoday

สุดยอดวิจิตรศิลป์ นิทรรศการพระเมรุมาศฯ

12 พฤศจิกายน 2560

เสมือนได้เปิดกล่องสมบัติชาติด้านงานศิลป์ทุกแขนง ในนิทรรศการพระเมรุมาศ

โดย สมแขก ภาพ : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์/คลังภาพโพสต์ทูเดย์

เสมือนได้เปิดกล่องสมบัติชาติด้านงานศิลป์ทุกแขนง ในนิทรรศการพระเมรุมาศ เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แม้ว่าจะคงเต็มไปด้วยความโศกเศร้า แต่สถาปัตยกรรมชั่วคราวที่ตระหง่านอยู่กลางมณฑลพิธีท้องสนามหลวงแห่งนี้ เป็นดั่งขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่คนไทยควรได้ชมและศึกษา หลายองค์ประกอบของความงดงามที่เป็นผลงานทรงคุณค่าจากช่างฝีมือไทยมาให้ชื่นชมความประณีต ซึ่งจะกล่าวถึงงานช่างประติมากรรมและจิตรกรรมที่โดดเด่น

ผลงานประติมากรรมเป็นอีกหนึ่งความยิ่งใหญ่ที่ครั้งใดก็ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ ประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวถึงรูปแบบของงานปั้นในงานพระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “ประติมากรรมครั้งนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เทวดา ซึ่งประกอบด้วย มหาเทพ เทวดานั่ง เทวดายืน ท้าวจตุโลกบาล 4 มีความคล้ายคลึงมนุษย์มากขึ้นทั้งหน้าตา สรีระที่มีกล้ามเนื้อ สัตว์มงคล ช้าง ม้า โค สิงห์ ครุฑเสา เป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 คือมีความร่วมสมัย”

สุดยอดวิจิตรศิลป์ นิทรรศการพระเมรุมาศฯ

บริเวณทางขึ้นทั้ง 4 ด้านจะมีครุฑยุดนาคประจำอยู่ แนวคิดที่สอดแทรกในงานปั้นพญาครุฑ ซึ่งเป็นตราแผ่นดินและเป็นพาหนะของพระวิษณุ ฉะนั้นลักษณะโดดเด่นของต้นแบบพญาครุฑองค์แรกจึงอยู่ที่รูปพระโพธิสัตว์บริเวณยอดมงกุฎของพญาครุฑสื่อว่าพระโพธิสัตว์คือในหลวงรัชกาลที่ 9 และพญาครุฑคือพาหนะที่พาพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย ขณะที่พญาครุฑองค์ที่สองจะมีลายกนกเพิ่มเข้ามาแตกต่างจากองค์แรก

ฐานชาลาชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นชั้นล่างสุด มีลักษณะเป็นฐานสิงห์ เป็นรั้วราชวัติ มีฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ มีคชสีห์ ราชสีห์นั่งเฝ้าทั้งสี่ทิศ โดยรอบชาลาชั้นที่ 2 มีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาล ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร เป็นเจ้าแห่งยักษ์ประจำทิศเหนือ มีความสูง 2 เมตร ทำหน้าที่ปกปักรักษาดูแลทรัพย์ของโลกมนุษย์ การปั้นท้าวเวสสุวรรณ นำเอาศิลปะสมัยลพบุรีมาประยุกต์ให้เข้ากับศิลปะร่วมสมัยของรัชกาลที่ 9

สุดยอดวิจิตรศิลป์ นิทรรศการพระเมรุมาศฯ

ท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศตะวันตก ทรงภูษาพื้นสีทอง เป็นใหญ่ในหมู่นาค เครื่องทรงเป็นมงกุฎน้ำเต้า มีนาครัดยอดมงกุฎไว้แล้วแผ่พังพานเป็นสามเศียร เครื่องทรงล้วนเป็นพญานาคพันทั้งหมด ท้าววิรุฬหก ประจำทิศใต้ มีรูปกายเหมือนกับมนุษย์ ความพิเศษคือปั้นให้มีสีหน้าเคร่งขรึมแสดงถึงความเกรงขาม ที่มือซ้ายมีงูจงอางเลื้อยพันฝ่ามือจับคองู ส่วนมือขวาถือทวน สื่อความหมายให้เห็นถึงการมีบริวาร ท้าวธตรฐราช ประจำทิศตะวันออก จอมภูตหรือจอมคนธรรพ์ หนึ่งในสี่ท้าวจตุมหาราช สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ ผู้ปกครองปุริมทิศ ทิศบูรพาหรือทิศตะวันออก ทรงพิณเป็นสัญลักษณ์ ปกครองเหล่าคนธรรพ์ และวิทยาธร รวมถึงนางไม้นางอัปสรทั้งหลาย

ขณะที่ชั้นลานอุตราวรรต (ระดับพื้นทางเดินรอบพระเมรุมาศ) มีสัตว์มงคล 4 ชนิด คือ ช้างประจำอยู่ทิศเหนือ ช้างมีลักษณะสมบูรณ์สื่อถึงความสุข ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ม้าประจำอยู่ทิศตะวันตก วัวประจำอยู่ทิศใต้ และสิงห์ประจำอยู่ทิศตะวันออก

สุดยอดวิจิตรศิลป์ นิทรรศการพระเมรุมาศฯ

อีกชิ้นงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือภาพจิตรกรรมงานศิลปะชั้นสูง ฉากบังเพลิง ซึ่งในครั้งนี้มีขนาดใหญ่กว่าที่ผ่านมา และภาพที่เขียนลงบนฉากก็ต่างจากภาพเทวดาที่ผ่านมา ครั้งนี้ได้เขียนภาพแสดงเรื่องราวพระนารายณ์อวตารปางต่างๆ จำนวน 8 ปาง กลุ่มเทวดาที่มีลักษณะการวาดให้คล้ายมนุษย์ กล่าวคือ ทั้งสรีระ และหน้าตา จะมีความคล้ายมนุษย์มากขึ้น มีกล้ามเนื้อและสมจริงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ รวม 24 โครงการ

การเรียนรู้ลายผ้าไทยจากผ้านุ่งของชุมนุมเทวดาต่างๆ จากฉากบังเพลิงทั้ง 4 ทิศก็เป็นเรื่องที่คนสนใจศึกษาเรื่องผ้าห้ามพลาด เพราะ “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรีและเป็นหนึ่งในศิลปินจิตอาสาในงานจิตรกรรมฉากบังเพลิง เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการนำลายผ้าในแต่ละภาค ซึ่งได้รับการฟื้นฟูโดยโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เข้ามาแทรกในรายละเอียดของพัสตราภรณ์ของเหล่าเทวดานางฟ้า เท่ากับเป็นการหลอมรวมพระราชกรณียกิจของแม่ในแผ่นดินผสานรวมไว้ในงานพระราชพิธีเคียงคู่พระจิตกาธาน

สุดยอดวิจิตรศิลป์ นิทรรศการพระเมรุมาศฯ

สไบของเหล่านางฟ้าด้านทิศตะวันออก โดดเด่นด้วยลายผ้าแพรวาและผ้าขาวม้าเอกลักษณ์ของภาคอีสาน ดอกไม้ร่วงที่โปรยปราย มีดอกยางนาที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องทุ่งภาคอีสาน ด้านทิศตะวันตก ประยุกต์ลวดลายราชสำนักแบบโบราณกับลายผ้าแบบสมัยใหม่ เกิดเป็นความร่วมสมัยให้เป็นลายผ้านุ่งของเหล่าเทวดานางฟ้า ดอกไม้แทรกด้วยดอกจามจุรีและดอกชัยพฤกษ์ ทางทิศเหนือ ผ้านุ่งของเหล่านางฟ้าและเทวดาถักทออย่างมีมิติ ด้วยลวดลายของผ้าลายไทยลื้อ ผ้าลายน้ำไหล ในจังหวัดในภาคเหนือ สำหรับดอกไม้ถอดรูปแบบดอกทองกวาว ดอกไม้ประจำ จ.เชียงใหม่ และดอกเสี้ยว ดอกไม้ประจำ จ.น่าน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดอกไม้ทิพย์ และด้านทิศใต้ โดดเด่นด้วยลายผ้าทอนาหมื่นศรีจาก จ.ตรัง ผ้ายกดอกเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นลวดลายราชสำนักโบราณ ผ้าลายดอกพยอมสีม่วงอ่อน
ของ จ.พัทลุง ผ้าไหมพุมเรียงของ จ.สุราษฎร์ธานี ผ้าทอเกาะยอของ จ.สงขลา และผ้าปาเต๊ะสีสันสดใสเอกลักษณ์ของคนใต้ สไบนางฟ้างดงามด้วยลวดลายของผ้าบาติก หลอมรวมกับดอกศรีตรังและดอกพยอมที่โปรยปราย

นอกจากนี้ จิตรกรรมบนพระที่นั่งทรงธรรมอาคารชั้นเดียวยกฐานสูงขนาด 44.50 เมตร มีความยาว 155 เมตร ผนังด้านในของพระที่นั่งทรงธรรมทั้งทางทิศเหนือและใต้ รวมถึงผนังบริเวณหน้าห้องประทับ จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวพระราชกรณียกิจ 46 โครงการ อันถือเป็นศาสตร์แห่งพระราชา การจารึกภาพจิตรกรรมเรียงร้อยเป็นเรื่องราวบนผนังทั้ง 3 ด้าน แต่ละด้านบอกเล่าโครงการในภูมิภาคต่างๆ

ร่วมชมและศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีอยู่ในทุกอณูของนิทรรศการพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้เข้าชม ตั้งแต่วันนี้-30 พ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง