posttoday

จักรยานสาธารณะอัจฉริยะ ช่วยกรุงเทพฯ สร้าง ‘เมืองจักรยาน’ (ในฝัน)

11 พฤศจิกายน 2560

ในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ในปี 2555

โดย  โสภิตา สว่างเลิศกุล

 ในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ในปี 2555 มีมติเรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” แล้วมติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยประกาศสนับสนุนนโยบายการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชน และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่ออย่างเป็นรูปธรรม

 ความตื่นตัวเรื่องจักรยานและการสร้างเมืองจักรยานได้ถูกรณรงค์ผ่านทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง แต่ความคืบหน้าก็ดูเหมือนเคลื่อนไปอย่างช้าๆ แบบเรื่อยๆ ยิ่งการที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองจักรยานยิ่งยืดยาดล่าช้าอย่างไม่น่าจะเป็น

 ตัวอย่างล่าสุดการเดินหน้าโครงการ "ทางเดิน-ทางจักรยาน ริมคลองแสนแสบ” เริ่มจากปี 2555 การก่อสร้างล่าช้า ไม่แล้วเสร็จ เสาไฟฟ้า 88 ต้นกีดขวางเส้นทาง อาคารทรุดเอียง การก่อสร้างหยุดชะงัก โดยมีการเริ่มต้นเร่งรัดกันอีกครั้งเมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา

 การเดินและปั่นจักรยานเป็นมิติสำคัญอันหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในหลักการส่งเสริมและพัฒนาเมืองขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยแผนการพัฒนาเส้นทางจักรยานที่กำลังจะเพิ่มขึ้นใน กทม. โดยกรุงเทพมหานคร ทั้งการเพิ่มขยายเส้นทางและการซ่อมแซมอย่างเต็มที่มากขึ้น

จักรยานสาธารณะอัจฉริยะ ช่วยกรุงเทพฯ สร้าง ‘เมืองจักรยาน’ (ในฝัน)

 ปัจจุบันสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในด้านความเหมาะสมในการเอาประเด็นผังเมืองมาส่งเสริมการพัฒนากรุงเทพฯ ชั้นในและชั้นกลาง โดยจะส่งเสริมการสัญจรรอบสถานีรถไฟฟ้า และส่งเสริมการเดินและใช้รถจักรยานให้มากขึ้น ส่งเสริมให้เขตชั้นในและเขตชั้นกลางของกรุงเทพฯ เช่น แถวสีลม สนามหลวง เยาวราช บางซื่อ ดินแดง บางกอกใหญ่ ราษฎร์บูรณะ ฯลฯ เป็น "เมืองกระชับ" หรือ Compact City เหมาะแก่การเดินและการใช้จักรยานอย่างมาก

 ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครจริงจังกับการสร้าง “เมืองจักรยาน” มากยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับการศึกษาทบทวนประสิทธิภาพของแนวเส้นทางการสัญจรทางเลือกด้วยจักรยานที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ได้จัดทำและเจ้าพนักงานจราจรได้ประกาศข้อบังคับจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.“ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2557 ว่าด้วยการห้ามหยุดหรือจอดตลอดเวลา” และ 2.“กําหนดระเบียบการใช้ทางหรือช่องเดินรถสําหรับรถจักรยานสองล้อบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2557” โดยข้อบังคับท้องถิ่น 2 ฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2557 เป็นต้นไป

จักรยานสาธารณะอัจฉริยะ เร่งมิติฝัน "กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน"

 เส้นทางจักรยานของกรุงเทพมหานคร ตอนนี้ กทม.มีทางจักรยานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว 31 เส้นทาง กำลังดำเนินการอีก 10 เส้นทาง เส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว 137 เส้นทาง กำลังดำเนินการ 193 เส้นทาง และเส้นทางเพื่อออกกำลังกายรอบแก้มลิงบึงมะขามเทศ และบึงสะแกงามสามเดือน 4.2 กม.

 กระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้าภาพหลักอย่างเป็นทางการ รับผิดชอบดูแลการจัดทำเส้นทางจักรยานได้รวบรวมข้อมูลเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ พบว่ามีทั้งสิ้น 774 กิโลเมตร กระจายออกไปอยู่ภายใต้การดูแลของ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงคมนาคม 316 กม. กรุงเทพมหานคร 323 กม. และหน่วยงานส่วนภูมิภาค 134 กม. ถือว่ายังไม่มาก แต่หลังจากรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ใช้จักรยานอย่างจริงจัง ก็มีแผนเพิ่มเส้นทางเป็น 3,016 กม. หรือมากกว่าเดิม 4 เท่าตัว

 ล่าสุดสิ่งที่น่าสนใจสำหรับชาวจักรยาน และความฝันที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจักรยาน คือการมาถึงของ “จักรยานสาธารณะอัจฉริยะ” ซึ่งกรุงเทพมหานครได้พยายามมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการ

 ระบบจักรยานสาธารณะ (Bike-Sharing) หลายประเทศในยุโรปและเอเชียได้ใช้บริการรถจักรยานให้เช่ามาเป็นเวลาหลายสิบปี เนื่องจากการใช้รถจักรยานเดินทางในเมือง ยิ่งระยะทางสั้นๆ ยิ่งสะดวก ประหยัดเวลา ช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยควันพิษ ลดปัญหารถติด ประหยัดน้ำมันรถยนต์ แถมได้ออกกำลังกายอีกด้วย

 ยิ่งทุกวันนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ทำให้จักรยานสาธารณะเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีจักรยานสาธารณะหลายแบรนด์เข้ามาให้บริการ เช่น จักรยานสาธารณะสัญชาติจีนที่เพิ่งเปิดให้บริการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่นานมานี้ หรือโอไบค์ (Obike) จากสิงคโปร์ ที่จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือแม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ให้บริการจักรยานสาธารณะ ซียู ไบค์ (CU Bike) เป็นต้น เรียกว่าส่วนใหญ่จะให้บริการภายในมหาวิทยาลัย

 ล่าสุด โมไบค์ (Mobike) ผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติจีน จับมือกับบริษัท เอไอเอส บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดยจะเริ่มให้บริการที่ มก.เป็นแห่งแรก แล้วขยายมายังห้างในกลุ่มเซ็นทรัล ออฟโฟ (Ofo)

จักรยานสาธารณะอัจฉริยะ ช่วยกรุงเทพฯ สร้าง ‘เมืองจักรยาน’ (ในฝัน)

 งานเปิดตัว “โมไบค์” (Mobike) จักรยานสาธารณะอัจฉริยะอย่างเป็นทางการของผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะรายแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงเป็นการมาเร่งเติมฝันให้กรุงเทพฯ เข้าใกล้ความเป็นเมืองจักรยานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตามการสร้างเทรนด์เศรษฐกิจแบ่งปันให้มีขึ้นได้ในประเทศไทยจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในจีนและต่างประเทศ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเริ่มต้นให้บริการในกรุงเทพฯ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยจับมือกับแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 ในการใช้บริการของโมไบค์ ผู้ใช้สามารถทำการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นโมไบค์และลงทะเบียนผ่านมือถือ พร้อมชำระเงินมัดจำครั้งเดียวจำนวน 99 บาท เพื่อเป็นค่าประกันความปลอดภัยให้แก่ตัวผู้ใช้และตัวจักรยาน ซึ่งสามารถถอนคืนได้ในภายหลัง ระหว่างช่วงทดลองโครงการตั้งแต่เดือน พ.ย.-ม.ค. ผู้ใช้สามารถปั่นจักรยานดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการปั่น และหลังจากสิ้นสุดช่วงทดลองนี้ โมไบค์จะคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่คุ้มค่าเพียง 10 บาทต่อการใช้งาน 30 นาที และผู้ใช้บริการโมไบค์สามารถติดตามข่าวสารสำหรับโปรโมชั่นใหม่ๆ จากการขยายสู่พื้นที่ต่างๆ ในปี 2561

 สำหรับโมไบค์ เปิดให้บริการจักรยานอัจฉริยะครั้งแรกนี้ ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ในเดือน เม.ย. 2559 และภายในระยะเวลาปีกว่าได้ขยายการบริการไปยัง 160 เมืองทั่วโลก ปัจจุบันโมไบค์ให้บริการทั่วประเทศจีน สิงคโปร์ อิตาลี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีจักรยานอัจฉริยะรวมทั้งหมดกว่า 7 ล้านคัน และมีผู้ใช้งานมากกว่า 25 ล้านครั้ง/วัน โมไบค์ถูกออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานปกติทั่วไป ทำให้เกิดเป็นจักรยานที่ไม่ต้องมีการบำรุงรักษา โดยมีเป้าหมายอายุการใช้งานแต่ละคันอยู่ที่ 4 ปีโดยไม่ต้องซ่อม จักรยานแต่ละคันเชื่อมต่อกับเครือข่ายโมไบค์ IoT ผ่านระบบจีพีเอสของล็อกอัจฉริยะในตัว

 การออกแบบเป็นพิเศษโดยติดตั้งจีพีเอส ดังนั้นผู้ใช้สามารถใช้แอพสมาร์ทโฟนเพื่อค้นหาจักรยานที่อยู่ใกล้ตัวผู้ใช้บริการที่สุด จับจอง และปลดล็อก ทุกขั้นตอนสามารถดำเนินการผ่านสมาร์ทโฟนได้ง่ายๆ หลังจากเดินทางถึงจุดหมาย ผู้ใช้สามารถจอดจักรยานไว้ริมถนน ณ ช่องจอดจักรยานสาธารณะและล็อกไว้ จักรยานคันนั้นก็จะพร้อมแบ่งปันให้ผู้ขับขี่คนต่อไปได้ใช้งานโดยอัตโนมัติ

 หลังจากเปิดตัวที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว โมไบค์มีแพลนจะขยายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงขยายไปยังพื้นที่ของศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลพัฒนาอย่างเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้เอไอเอสร่วมมือให้บริการจักรยานอัจฉริยะนี้ด้วยระบบเทคโนโลยี NB-IoT และการชำระเงินด้วย mPay ซึ่งจะทำให้เครือข่ายการเชื่อมโยงของโมไบค์กับตัวจักรยานอัจฉริยะและผู้ขับขี่ในประเทศไทย มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว กับผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยีล่าสุดนี้

 มาร์ก ลิน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติงานระหว่างประเทศของโมไบค์ กล่าวว่า โมไบค์ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมนี้ มีทั้งประสบการณ์ในการบริการและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ รวมถึงจีพีเอส (GPS) และเทคโนโลยี IoT เพื่อบริหารจัดการการขยายตลาด อีกทั้งวิสัยทัศน์ของโมไบค์ คือต้องการแก้ปัญหาที่จุดหมายปลายทาง ด้วยการผสานเข้ากับเครือข่ายการขนส่ง และยังช่วยรณรงค์การลดมลภาวะอย่างต่อเนื่อง

 โดยโมไบค์จะเริ่มให้บริการที่กรุงเทพฯ เนื่องจากมีการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงขึ้น และมองว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับโมไบค์ ในการเริ่มต้นใช้งานโปรแกรมต้นแบบ ก่อนจะขยายต่อไปทั่วประเทศ รวมไปถึงมหาวิทยาลัย สถานที่ท่องเที่ยวในหัวเมืองต่างๆ อีกด้วย

 “ปัจจุบันโมไบค์มีจักรยานที่ให้บริการแล้วกว่า 7 ล้านคันทั่วโลก โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 30 ล้านเที่ยว/วัน และมีจำนวนผู้ลงทะเบียนประมาณ 200 ล้านราย ภายในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้โมโบค์ยังได้มีการพูดคุยกับภาครัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โมไบค์ได้เข้าไปบริการเพิ่มเติมแก่ประชาชนชาวไทย โดยต้องการให้ภาครัฐให้การสนับสนุนในเรื่องนโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน”

จักรยานสาธารณะอัจฉริยะ ช่วยกรุงเทพฯ สร้าง ‘เมืองจักรยาน’ (ในฝัน)

ทางจักรยานในกรุงเทพฯ ตามหลักการผังเมือง

 การออกแบบปรับปรุงกายภาพในเมืองที่กระชับเพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่นั้น แดน เบอร์เดน ผู้อำนวยการของ Walkable and Livable Communities Institute ในฐานะนักออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) ที่นิตยสารไทม์ได้ยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ของโลกด้าน Civic Innovators ปี 2544 ได้เสนอผลงานเรื่อง New Public Health attended a walkability audit of downtown San diego ในงานประชุมประจำปี New Partner for Smart Growth Conference ปี 2555 กล่าวไว้ว่า ทางเดิน ทางจักรยาน และถนนของเมืองน่าอยู่นั้น จะต้องออกแบบปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่

 1) ความรู้สึกปลอดภัยของคนเดิน ความเป็นมิตรของรถยนต์ส่วนบุคคล (ที่ไม่ใช้ความเร็ว) การปกป้องทางเดินด้วยต้นไม้และสาธารณูปโภคบนทางเท้า

 2) ความสะดวกสบายที่เกิดจากพื้นผิวทางเดิน ทางลาด และอุปกรณ์ประกอบถนน

 3) ประสิทธิภาพ ได้แก่ ประสิทธิภาพของการสัญจรด้วยรถเข็นเด็กที่ต่อเนื่องในเส้นทางยาวไกลได้ ระบบสัญลักษณ์การจราจร ระบบลดความเร็วรถยนต์ การยกระดับผิวทางบริเวณสี่แยกและสามแยก ที่จอดรถยนต์และจักรยานริมถนน สถานีรถขนส่งมวลชน ฯลฯ

 4) ความสะดวกในการเข้าถึงบริการและการเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายไปยังสถานที่สำคัญๆ

 5) จูงใจให้เกิดการใช้จากสภาพแวดล้อมที่ห่อหุ้มด้วยต้นไม้ใหญ่ไม้พุ่ม ร้านค้าหลากหลายบริการที่ตกแต่งสวยงาม ฯลฯ

 ผศ.ดร.สญชัย ลบแย้ม จากภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์ในรายการช่วยคิดช่วยทำ ชี้ว่าถ้ามองในรูปแบบของเส้นทางสัญจรหลัก ลักษณะของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเมืองชั้นใน ซึ่งมีผังเมืองเป็นตารางหมากรุก อย่างเช่นย่านเยาวราช และเขตพระนคร ซึ่งเป็นการสร้างถนนมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้นโดยหลักการของถนนเป็นตารางหมากรุก การสัญจรจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตรงไปตรงมาจะมีทางเลือกจากจุดเอไปจุดบีมากขึ้น

 “ถ้าดูในเชิงกายภาพเมืองก็มีความเป็นไปได้สูงในการที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจักรยาน เพราะตามหลักวิชาผังเมือง มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับเลนจักรยานหรือทางจักรยาน อย่างเช่นความหนาแน่นของประชากร ซึ่งประชากรที่อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร ก็คล้ายคลึงกับเมืองใหญ่ในต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จในการสร้างจักรยาน เช่น มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

 การขี่จักรยานคือการใช้แรงของประชาชนในการเดินทางสัญจร เป็นการเดินทางที่ใช้กายภาพซึ่งเหมือนกึ่งกับการออกกำลังกาย ถนนตารางหมากรุกในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งเขตเมืองชั้นในจะมีความหนาแน่นสูง เป็นจุดศูนย์กลางทางพาณิชยกรรม มีการใช้พื้นที่สูง"

จักรยานสาธารณะอัจฉริยะ ช่วยกรุงเทพฯ สร้าง ‘เมืองจักรยาน’ (ในฝัน)

 ผศ.ดร.สญชัย ขยายภาพต่อว่า นอกเหนือจากเรื่องของความหนาแน่นประชากร สภาพของถนน ในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากที่ดินก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเสริมในการใช้จักรยาน

 “ในทางผังเมืองจะเรียกว่าการใช้แบบผสมผสาน คือการใช้ที่ดินอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัยก็ดี พาณิชยกรรม สถาบันราชการ หรือทางด้านแหล่งนันทนาการต่างๆ เมื่อนำมาผสมผสานทำให้การเดินทางสั้นลง ยกตัวอย่างเช่นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เรามีการใช้ที่ดินหลากหลายอย่างนี้อยู่ในบริเวณที่ใกล้ๆ กัน การเดินทางก็จะกระชับขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล อย่างเช่นย่านหัวลำโพง จะมีห้างสรรพสินค้าโดยรอบ มีสถาบันอุดมศึกษา มีวัด มีร้านค้าการทำธุรกิจในย่านนั้น ถ้าอยู่อาศัยในบริเวณนั้น การเดินทางจากที่พักอาศัยไปยังแหล่งงานหรือแหล่งบริการต่างๆ ที่กล่าวถึง การเดินทางจะมีระยะทางที่สั้น การขี่จักรยานจึงมีความเป็นไปได้สูง จักรยานจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมที่ดี"

 ในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ผศ.ดร.สญชัย บอกว่ามีการศึกษาวิจัยที่เป็นตัวชี้ว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและระบบรางจะช่วยเพิ่มการเดินทางด้วยจักรยานและทางเท้าให้มากขึ้น เพราะเป็นทางเลือกที่ดีในการมาขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถเมล์

 “เมืองไทยก็ใช้นโยบายลองผิดลองถูกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพัฒนาเมืองจะไปอย่างสุดลูกหูลูกตา ซึ่งเป็นการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ไม่มีการจัดการระบบเรื่องผังเมือง กรุงเทพมหานครที่เริ่มสร้างเลนจักรยาน และเริ่มโครงการปันปันแชร์ ทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ มีเจตนารมณ์ที่ดีที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชน เฟสแรก 8 กิโลเมตร การออกแบบ การบังคับใช้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะเส้นทางผ่านหน้าร้าน คงต้องมีกระบวนการและการปรับแผนต่างๆ ที่รอบคอบมากขึ้น

 สิ่งที่ทำให้เลนรถจักรยานในฝันของคนเมืองมีหลายประเด็น ประเด็นแรก คือกระบวนการออกแบบเส้นทางจักรยาน อยากให้เปิดให้มีส่วนร่วมของประชาชนในระดับล่างขึ้นมาด้วย ไม่ใช่กำหนดมาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว อยากให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของร่วมกันและสามารถใช้งานจริงได้ เพราะฉะนั้นจึงอยากเน้นอย่างแรก คือเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์ ประเด็นถัดมาก็คือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของผู้ร่วมเดินทางสัญจรในเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ก็ดี หรือขี่มอเตอร์ไซค์ก็ดี ต้องมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเห็นอกเห็นใจผู้ขับขี่จักรยาน รวมถึงผู้เดินเท้าด้วย ต้องมีการเรียนรู้ร่วมกัน"

 แนวคิดนี้ได้สอดคล้องกับแนวทางวางผังเมืองจักรยาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่ง ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการวางแผนภาคและเมือง สาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ บอกในการให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ทางเอ็นบีทีว่า แนวโน้มผู้ใช้จักรยานจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐมีโครงการออกมาส่งเสริมการใช้จักรยาน แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือการวางแผนแม่บทจักรยาน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาและความต้องการจากผู้ใช้จักรยาน

 "คำว่าแผนแม่บท อย่างน้อยก็ต้องมีการทะเลาะถกเถียง และต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ ซึ่งลดความขัดแย้งได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องให้ข้อมูลกับประชาชนตลอดเวลาว่ามีโครงการต่างๆ"

 ดังนั้น เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย การจะพัฒนาให้เป็นเมืองจักรยานอย่างยั่งยืน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลา และได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย การเกิดเส้นทางจักรยานที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย รวมถึงทำให้คนสนใจปั่นจักรยานในวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งการปั่นจักรยานไปโรงเรียน ปั่นไปทำงาน ปั่นท่องเที่ยว หรือปั่นออกกำลังกาย

 การจะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองจักรยาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องกำหนดแผนแม่บทเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นั่นคือจุดเริ่มต้นของการวางผังเมืองจักรยาน การสร้างเมืองให้เป็นเมืองจักรยาน ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ก่อนจะมาเป็นเมืองจักรยานอันดับ 1 ของโลกในทุกวันนี้ ใช้เวลานานถึง 20 ปีกันเลยทีเดียว...แล้วกรุงเทพมหานครจะใช้เวลากี่ปี?