posttoday

สวรรค์ของนักปั่น ฝันถึง กรุงเทพฯ ‘เมืองจักรยาน’

11 พฤศจิกายน 2560

เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เมืองยูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีประชากรราว 3.44 แสนคน เปิดตัวโรงจอดจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจุจักรยานได้ 1.25 หมื่นคัน

เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เมืองยูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีประชากรราว 3.44 แสนคน เปิดตัวโรงจอดจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจุจักรยานได้ 1.25 หมื่นคัน มีกำหนดจะสร้างเสร็จภายในปี 2561 เพื่อแก้ปัญหาการจอดจักรยานไม่เป็นระเบียบบริเวณนอกสถานีหลักของเมือง อันมีสาเหตุมาจากมีพื้นที่จอดรถจำกัด ไม่เพียงพอต่อปริมาณจักรยานมหาศาล

ส่วนกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวง ซึ่งมีประชากร 8.35 แสนคน และมีจักรยาน 8.47 แสนคัน ก็มีแผนจะสร้างที่จอดจักรยานจุ 8,500 คันใต้แม่น้ำอัมสเทล เชื่อมต่อกับสถานที่กลางของเมือง ที่นี่ได้รับสมญานาม “เมืองหลวงของจักรยานโลก” ด้วยความเป็นมิตรกับจักรยานมากที่สุดในโลก กว่า40% ของประชากรส่วนใหญ่ใช้จักรยานเป็นพาหนะจนกลายเป็นวัฒนธรรมจักรยานที่เห็นได้ทั่วไปทุกมุมเมือง มีทั้งจักรยานให้เช่า เลนจักรยาน และสัญญาณไฟจราจรสำหรับจักรยานอย่างครบครัน

มาดูในอเมริกาใต้ กรุงโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย มีประชากรประมาณ 8.5 ล้านคน เมื่อก่อนโลกรู้จักกรุงโบโกตาว่าเป็นเมืองอันตราย เพราะเต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจน การจราจรติดขัดมาก และอากาศเสียรวมทั้งขาดพื้นที่สีเขียว

หลังจากมีการใช้งบประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.6 หมื่นล้านบาท) เพื่อสานฝันให้โบโกตากลายเป็นเมืองหลวงแห่งจักรยาน โดยขึ้นราคาน้ำมันและค่าจอดรถในเมืองเพื่อแบ่งมาเป็นกองทุนพัฒนาระบบโครงข่ายรถเมล์ด่วน ให้ขนส่งมวลชนมีเลนวิ่งได้สะดวก

แล้วสร้างเครือข่ายระบบเส้นทางจักรยานอย่างดี ความยาวรวมกว่า300 กิโลเมตร ถูกสร้างตรงจากสลัมหรือชุมชนแออัด และพื้นที่รอบนอกเข้าสู่ใจกลางเมือง ซึ่งส่งผลให้ชาวเมืองหันมาขี่จักรยานเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าโครงสร้างที่เชื่อมถึงกันทั้งหมดนี้ทำให้การเดินทางด้วยจักรยานเป็นไปได้แบบต่อเนื่อง ผู้ขี่จักรยานสามารถเข้าถึงสถานที่น้อยใหญ่ได้ทั้งหมดนอกจากนั้นยังมีการจัดโซนพื้นที่สีเขียวขนาบไปกับเส้นทางจักรยานด้วย

และมีการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ส่งผลให้ความหนาแน่นของรถยนต์ในตัวเมืองลดลงไปได้ถึง 40% ที่สำคัญเส้นทางการวิ่งของรถบัสด่วนเชื่อมต่ออย่างดีกับทางจักรยาน ตามสถานีต่างๆ มีจุดจอดจักรยานที่ใช้งานได้จริงและเพียงพอด้วย รวมถึงรณรงค์ด้วยโครงการ “วันอาทิตย์ปลอดรถยนต์” (Ciclovia) ปิดถนนหลายสายรวม 120 กิโลเมตร พร้อมมีจุดจอดรถมากมายให้ชาวเมืองได้จอด แล้วหันมาขี่จักรยานหรือเดินเท้าเข้าเมืองแทน

เมื่อทุกคนจึงต้องมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่สำคัญที่สุดคือถนนและทางเท้าอย่างเท่าเทียมกัน จากอดีตที่คนขับรถยนต์ส่วนตัวซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ25 กลับยึดพื้นที่เหล่านี้ไปหมด ทุกวันนี้กรุงโบโกตา ประชากรคุณภาพชีวิตดีขึ้น และอัตราฆาตกรรมลดลงถึง 4 เท่า ปัจจุบันผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกคนต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อจักรยาน คนเดิน และพื้นที่สาธารณะ

การสร้างเมืองให้น่าอยู่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ แต่ขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองและการลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหา และกรุงโบโกตาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเมืองจักรยานก็ได้แต่ฝันถึงกรุงเทพฯ เมืองจักรยาน ที่ยังอยู่อีกไกล