posttoday

ขยะจากนักศึกษา แปลงเป็นของมือสองช่วยสังคม

05 พฤศจิกายน 2560

ของมือสองใครๆ ก็ชอบ โดยเฉพาะของดีราคาถูกที่สามารถนำมาใช้งานได้เป็นอย่างดี

โดย พริบพันดาว ภาพ : media.univcomm.cornell.edu / thesuffolkjournal.com

ของมือสองใครๆ ก็ชอบ โดยเฉพาะของดีราคาถูกที่สามารถนำมาใช้งานได้เป็นอย่างดี อุตสาหกรรมของมือสองหรือสินค้าใช้แล้วก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ  เมืองไทยก็มีตลาดนัดของมือสองอยู่มากมายเช่นกัน

 สินค้ามือสองตามคำจำกัดความทางเศรษฐศาสตร์ คือการเพิ่มอายุการใช้งานให้กับสินค้าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน มีสภาพคงทน (Durable Goods) หรือกึ่งคงทน (Semi-Durable Goods) ซึ่งโอกาสในความต้องการสินค้าเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้
ต่อเนื่องยาวนาน

ขยะจากนักศึกษา แปลงเป็นของมือสองช่วยสังคม

 โดยทั่วไปมูลค่าของสินค้าใหม่ที่คนมักจับจ่ายในกลุ่มเหล่านี้ มักมีค่าเสื่อมราคาอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งโดยเฉลี่ย นั่นหมายถึงสินค้าเหล่านั้นมักถูกทิ้งหรือหมดความต้องการก่อนเวลาอันสมควรตามอายุการใช้งานที่แท้จริง เมื่อสินค้าเหล่านั้นไม่เป็นที่ต้องการของเจ้าของเดิม แต่มูลค่า

ทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ การซื้อขายแลกเปลี่ยนจึงตอบสนองความต้องการนี้โดยตรง แต่ในสหรัฐอเมริกา การบริหารจัดการของมือสองในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะหอพักนักศึกษาก็มีการรณรงค์ที่มีรูปแบบของจิตอาสาหรืออาสาสมัครการกุศลเพื่อหารายได้มอบให้องค์กรต่างๆ นำปใช้ประโยชน์อีกที

ขยะจากนักศึกษา แปลงเป็นของมือสองช่วยสังคม

 ตั้งแต่ปี 2000 มีการก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีชื่อว่า “Dump & Run” ทำหน้าที่คอยเก็บรวบรวมสิ่งของที่ทิ้งแล้วของนักศึกษาหนุ่มสาวที่ใกล้จบการศึกษาในสหรัฐอเมริกา

 โดยตั้งกล่องรับบริจาคสิ่งของเหลือใช้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วนำไปขายราคาถูกในงานออกร้านตามโรงยิมของสถานศึกษาและตลาดนัดที่ลานจอดรถ เพื่อหารายได้ไปบริจาคเป็นการกุศล

 ในแต่ละปี นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา โยนข้าวของทิ้งโดยเฉลี่ย 290 กิโลกรัม ซึ่งกว่า 30% ของขยะเหล่านี้ เกิดขึ้นช่วง 1 เดือน ก่อนจะจบการศึกษา

ขยะจากนักศึกษา แปลงเป็นของมือสองช่วยสังคม

 นักศึกษาผู้เร่งรีบจะก้าวเดินหาความก้าวหน้าอย่างเร่งรุดต่อไปในอนาคต ได้ทิ้งอดีตของตัวเอง สลัดคราบไคลในแบบนักศึกษา ไม่เพียงแต่ทิ้งอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ในการเรียนอย่างปากกาเน้นข้อความ หรือสมุดจดที่แน่นด้วยการบันทึกองค์ความรู้ในห้องเรียน แต่ยังทิ้งสิ่งของที่ไม่ต้องการอื่นๆ อาทิ น้ำยาซักผ้าที่เหลือเพียงครึ่งขวด ไปจนถึงคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเสียงที่ยังใช้งานได้

 ลิซา เฮลเลอร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ซึ่งมีจิตสำนึกและการใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความคิดว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง เพราะนักศึกษาที่จะจบการศึกษาจะยุ่งกับการสอบปลายภาคและสัมภาษณ์งาน จึงไม่มีเวลาที่จะนำสิ่งของเหล่านั้นไปบริจาค

 จากสิ่งของที่ได้รับบริจาคเคยได้รับเสื้อผ้าแบรนด์ดังที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ระดับโลก ซึ่งยังติดป้ายราคาพร้อมใบเสร็จอยู่ในถุง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขยะของคนคนหนึ่งอาจเป็นสมบัติล้ำค่าของคนอื่นก็ได้

ขยะจากนักศึกษา แปลงเป็นของมือสองช่วยสังคม

 มีมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่งที่เข้าร่วมโครงการรวมรายได้จากการขายขยะที่ได้รับบริจาคได้กว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.5 ล้านบาท สำหรับสิ่งของที่รวบรวมได้มีสารพัด และได้นำเงินไปบริจาคให้โครงการเพื่อชุมชนในท้องถิ่น

 โครงการนี้ทำอย่างเล็กๆ เรื่อยๆ มาถึง 17 ปีแล้ว มีเป้าหมายในท้ายที่สุดก็คือการให้การศึกษาและองค์ความรู้ต่อสาธารณะถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลือง และต้องการที่จะเก็บรักษาทรัพยากรเหล่านี้ให้กับคนรุ่นต่อไป

 น่าจะเป็นแนวคิดเรื่องจัดการขยะที่มีค่าของหอพักต่างๆ ในมหาวิทยาลัยของเมืองไทยเช่นกัน