posttoday

พระเมรุทองอันรองเรือง

05 พฤศจิกายน 2560

ช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ผมต้องเช็กข่าวต่างประเทศอย่างละเอียด

โดย กรกิจ ดิษฐาน

ช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ผมต้องเช็กข่าวต่างประเทศอย่างละเอียด เพราะเป็นงานหลัก แน่นอนว่าต้องผ่านตาความเห็นชาวต่างชาติเรื่องความหรูหราอลังการของงานนี้ ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นวิจารณ์เรื่องค่าใช้จ่าย อย่างที่หลายคนคงจะทราบแล้วว่าสื่อต่างประเทศพากันพาดหัวข่าวโดยพร้อมเพรียงเรื่องตัวเลขงบประมาณ ซึ่งบางคนบอกว่ามีผู้บงการให้สื่อนอกทำเช่นนั้น

แต่ในฐานะคนทำงานข่าวต่างประเทศผมไม่ชอบทฤษฎีสมคบคิด จากประสบการณ์พอเข้าใจว่าเพราะสื่อต่างประเทศกระพือเรื่องตัวเลข เพราะคิดว่าประเทศไทยยังจนและล้าหลัง จึงพยายามยัดเยียดให้คนอ่านเข้าใจว่าไทยจัดงานพระราชพิธีอย่างหรูหราโดยไม่เจียมสถานะ คนอ่านจึงดราม่าเป็นธรรมดา เพราะการพาดหัวชี้นำ

สื่อต่างประเทศยังเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพหรือกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ (Semi-God) ที่คนไทยต้องหมอบกราบด้วยความกลัว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด แต่ประเด็น "Semi-God ผู้ปกครองประเทศด้อยพัฒนา" มันขายได้ เขาจึงไม่อยากจะอธิบายให้ชัดเจนว่าคนไทยรักในหลวง เพราะสิ่งที่ในหลวงทรงทุ่มเทให้พสกนิกร ต่อให้ชี้นำประเด็นเรื่องคนไทยรักในหลวง ก็ไม่วายจะมีคนแย้งว่า คนไทยถูกล้างสมองไม่ผิดอะไรกับพวกเกาหลีเหนือ (เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับงานพระบรมศพเท่านั้น แต่หลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย จนผมอดเดาไม่ได้ว่า สื่อนอกหลายรายคงเคืองรัฐบาลทหารที่ kidnapped ระบอบประชาธิปไตย จึงหันมาโจมตีประเทศไทยไม่หยุดหย่อน แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็เท่ากับว่าสื่อนอกแยกแยะ "รัฐบาลทหาร" กับ "ประชาชนไทย" และ "ประเทศไทย" ไม่ได้)

ดราม่านี้ไม่ได้สะท้อนความไม่เข้าใจความรักเทิดทูน พระมหากษัตริย์ของคนไทย แต่ยังเกิดขึ้นเพราะไม่รู้จักประเทศไทยดีพอด้วย แน่ละ ชาวโลกรู้จักไทยในฐานะ เป้าหมายการเดินทางอันดับต้นๆ แต่ถามกันจริงๆ ว่าชาวโลกรู้จักวัฒนธรรมไทยดีแค่ไหน? แค่ในประเทศเอเชียบางประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังคงเรียกไทยเป็นประเทศโลกที่ 3 ดังนั้น อย่าไปถามหาความเข้าใจจากประเทศไกลสุดหล้าฟ้าเขียว

รวมถึงความเข้าใจวัฒนธรรมอันซับซ้อนของเรา โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ธำรงรักษาไม่ให้สูญหายไว้ ดังจะเห็นได้จากการประชันงานช่างอันวิจิตร เป็นคนกลางระหว่างประชาชนกับสถาบันศาสนาคราวเกิดความขัดข้อง ดูอย่างกรณีสมเด็จพระสังฆราชเอาเถิด (หรือแม้แต่พราหมณ์ในไทยที่เหลือไม่มากนัก หากไร้สถาบันพระมหากษัตริย์มีหรือจะรักษาเอาไว้ได้?) บางประเทศนั้นระบอบกษัตริย์ถูกยกเลิก ทำให้ไร้ผู้อุปถัมภ์งานช่างและปรัชญาโบราณ สูญสิ้นอัตลักษณ์ของชนชาติไปมากมาย กลายเป็นประเทศที่แสนจะก้าวไกลในทางวัตถุ แต่ภายในโหวงเหวงไร้หลักยึด

แน่นอนว่า เราทำให้คนทั้งโลกคิดเหมือนเราไม่ได้ แต่เราทำให้คนทั่วโลกเข้าใจเรามากขึ้นได้ เพียงแต่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก แค่อธิบายตามช่องคอมเมนต์ยังไม่พอ รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายเรื่อง Soft Power ของไทยให้ชัดเจนด้วย ต่างชาติจะได้เลิกเข้าใจผิดเกี่ยวกับไทยในระดับพื้นฐานเสียที อย่างน้อยจะได้เข้าใจว่า พิธีกรรมของเรามีนัยอันลึกซึ้ง พระเมรุแต่ละยอด กระหนกแต่ละลายล้วนแต่มีความหมาย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นแกนหลักดั่งเขาพระสุเมรุยึดโยงจักรวาลความเป็นไทยไว้ไม่ให้สั่นคลอน (เหมือนกับสมเด็จพระราชินีอังกฤษทรงเป็น "an element of conti- nuity in Britain")

เรื่องนี้ฝรั่งไม่เข้าใจไม่ว่า ยังมีคนในประเทศบางคนพยายามลดทอนความซับซ้อนที่โยงใยระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และวัฒนธรรมไทย ด้วยการลากเข้าการเมืองลูกเดียว เมื่อตั้งใจจะลดทอนและตั้งธงกันแล้ว คงไม่ต้องอธิบายเรื่องนัยอันลึกซึ้งกันอีก

งานพระราชพิธีที่ผ่านมาอาจใช้งบประมาณมหาศาล แต่ผมคิดว่าคุ้มค่าทั้งในทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณ และการเมือง ในแง่การเมืองช่วยทำให้คนไทยสามัคคีกันอย่างที่แทบจะหาไม่ได้ในช่วงทศวรรษอันสาบสูญ อย่างน้อยผมคิดว่ายามเราระลึกถึง "พระเมรุทองอันรองเรือง" น่าจะทำให้คนไทยฉุกคิดถึงความเหลวไหลที่เราพานพบมา หวนคิดถึงพระเดชพระคุณอันหาที่สุดมิได้

บัดนี้มีแต่ต้องร่วมใจฝ่าฟันกันไป พร้อมกับพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ใหม่และพระบรมวงศ์