posttoday

อัศจรรย์ความรู้สึก หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9

04 พฤศจิกายน 2560

ความรู้สึกโศกศัลย์ยังคลุ้งอยู่ในใจ แต่ชีวิตคงต้องก้าวต่อไปตามรอยของ "พ่อ"

โดย ทีมแมกซ์ ภาพ : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

 ความรู้สึกโศกศัลย์ยังคลุ้งอยู่ในใจ แต่ชีวิตคงต้องก้าวต่อไปตามรอยของ "พ่อ"

 9 วันหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภาพความสมพระเกียรติยังคงเด่นชัด เช่นเดียวกับความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ได้พานพบกับเรื่องน่า “อัศจรรย์” เสมือนกับว่าทุกสรรพสิ่งในโลกหล้ากำลังอำลากษัตริย์ผู้จากไป

อัศจรรย์ความรู้สึก หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9

วันที่ 21 ต.ค. 2560

 ประชาชนนั่งสงบรมแดดบนพื้นร้อน เฝ้ารอการซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเสมือนจริงกลางมณฑลพิธีท้องสนามหลวง จำได้แม่นยำว่าวันนั้นแสงแดดแข็งกร้าว ชาวไทยสวมเสื้อผ้าสีดำดูดความร้อนเข้าร่างกายแต่กลับไม่มีใครเอ่ยปากกร่นถึงความลำบากของการรอคอย

 เวลานั้นพระอาทิตย์เกือบเคลื่อนตัวตั้งฉากกับพื้นยางมะตอย ขบวนพระบรมราชอิสริยยศริ้วที่ 2 เคลื่อนสู่ท้องสนามหลวง ทหารแต่ละกองพันตั้งแถวหลังทหารกองเกียรติยศ นายทหารบก นายทหารเรือ และนายทหารอากาศ นำริ้วธง 3 ชาย มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เดินเข้าไปตั้งแถวในพระเมรุมาศ พร้อมด้วยฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง ภาพทุกอย่างสว่างชัดเฉกเช่นแสงแดดจ้า ไม่มีทิวร่มให้เห็นบังตา ไม่มีกระแสลมจากพัดในมือ

 วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อพระมหาพิชัยราชรถถึงที่เทียบสะพานเกรินบันไดนาคหน้าพลับพลา และหยุดที่ประตูราชวัติพระเมรุมาศ บัดนั้นทุกอย่างหยุดนิ่ง เม็ดเหงื่อบนใบหน้าไม่เขยื้อน แต่กลับเปื้อนด้วยเม็ดฝนจากฟ้า ไม่มีใครรู้ว่าเมฆฝนเคลื่อนตัวมาจากทิศใด ไฉนถึงมีละอองน้ำกลางฟ้าแจ้ง ฤานี่คือธรรมชาติสำแดง เหมือนที่เคยได้ยินมาว่า “ฟ้าร้องไห้”

 จนกระทั่งพระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนผ่านพระเมรุมาศไป เมฆก้อนใหญ่ก็สลายในเวลาเดียวกัน เพียงวูบเดียวเท่านั้นที่ได้สัมผัสความอัศจรรย์ ซึ่งไม่อาจเก็บบันทึกด้วยภาพ นอกจากความรู้สึก ณ ขณะ และความทรงจำร่วมกันของประชาชน ณ วันซ้อมใหญ่เสมือนจริง

อัศจรรย์ความรู้สึก หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9

วันที่ 26 ต.ค. 2560

 กว่า 370 วันของการเสด็จสวรรคตจวบถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันนั้นหมอกจางลอยคว้างยามเช้ามืดเหมือนน้ำตารื่นบังบรรยากาศวิโยค

 ขบวนพระบรมราชอิสริยยศจำนวน 3 ริ้วขบวนเคลื่อนอย่างงดงามประหนึ่งเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์ ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จากนั้นขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถ จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

 วินาทีที่พระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนมาถึงด้านหน้าพระเมรุมาศ น้ำตาและเสียงสะอื้นอื้ออึงในหมู่ประชาชน ทุกคนต่างยกพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 ขึ้นเหนือเกล้า กลั้นเสียงร้องไห้แทบมิดชิดแต่ไม่สามารถปกปิดความโศกศัลย์ ตัวสั่นร้าว เกินจะกล่าวถึงความอาลัยที่สุดของชีวิต

 เช่นเดียวกับเมฆและดวงสุริยันต์ที่จับมวลแผ่ขยาย ปกคลุมกุมใจ เหลือไว้เพียงช่องว่างเหนือพระเมรุมาศ อาทิตย์สาดส่องแสงสว่างกลางพระราชพิธี เสมือนสวรรค์เปิดรับเสด็จกลับเทวา ห้วงนั้นแว่วเสียงบรรเลงขึ้นมาว่า

 “เมื่อทินกรจะลาโลกไปไกล ยามนี้จำต้องพรากจากดวงใจ ไกลแสนไกลสุดห่วงยอดดวงตา”

อัศจรรย์ความรู้สึก หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9

ราษฎร์อาลัย

 สถิติประชาชนที่ผ่านจุดคัดกรองเข้าร่วมชมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ 26 ต.ค. 2560 จนถึงเวลาเที่ยงคืนมีจำนวน 227,297 คน ซึ่งเสียงของประชาชนต่างแสดงความอาลัยต่อพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

 “หญิงนุ่น” ม.ร.ว.สุทธิภาณี ยุคล หนึ่งในราชสกุล “ยุคล” ที่ได้ร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ วันที่ 26 ต.ค. 2560 กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้เป็นตัวแทนของครอบครัวเป็นหนึ่งในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

 ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Sudhipanee Noon Yukol หญิงนุ่นได้บันทึกความทรงจำในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ไว้ว่า

 “ในวันจริง ระหว่างพระราชพิธี ความรู้สึกนั้นอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ถูก เชื่อว่าทุกคนคงสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์และพลังใจของคนไทยทุกๆ คนที่ส่งใจมารวมกัน ณ ที่นั้น นาทีที่อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นยังพระเมรุมาศ จากฟ้าที่สลัวร่ม อยู่ๆ ก็มีแดดส่องสว่าง เราเลยชำเลืองมองบนฟ้า เห็นแดดทอดลงมาเป็นลำตรงเบื้องบนพระเมรุมาศ นาทีนั้นน้ำตาไหลลงมาหยุดไม่อยู่ เทวดาคงมารับเสด็จท่าน ตลอด 2 วันที่ทุกๆ คนร่วมเดิน จะเจอแดดเจอฝน แค่ไหนก็ไม่ท้อ เพราะทุกคนรู้ว่า เรามารวมกันอยู่ตรงนี้เพื่อใคร

 การถวายงานครั้งนี้ เป็นความภูมิใจสูงสุดของชีวิต ในงานพระราชพิธีนั้น เราไม่มีภาพถ่ายใดๆ มีแต่ความทรงจำที่คิดว่า ชีวิตนี้คงไม่มีวันลืม”

 เธอยังกล่าวด้วยว่า เวลามีคนถามว่าเหนื่อยไหม จะคิดถึงคำพูดของทหารนายหนึ่งที่บอกกับพวกเราทุกคนในวันซ้อมว่า ให้คิดเสมอว่าเราทำเพื่อใคร ทุกครั้งที่เวลาเราเดินแล้วรู้สึกเหนื่อย หน้ามืด จะคิดถึงพระองค์ท่าน ท่านทรงทำงานเพื่อคนไทยมาเท่าไร พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทุกแห่งหนของผืนแผ่นดินไทยเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์

 นอกจากนี้ ยังมีเสียงเล็กๆ ผู้ทำหน้าที่ในงานพระราชพิธีอย่างแข็งขันและเป็นเบื้องหลังของความสะอาดสวยงามที่ไม่อาจหลงลืม กมลทิพย์ ล้องวงษ์ เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด เขตสวนหลวง เล่าว่า เธอและเพื่อนได้รับมอบหมายให้ประจำจุดบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ วัดราชนัดดา ตั้งแต่วันที่ 23-29 ต.ค. 2560 เวลา 13.00-21.00 น. โดยมีหน้าที่ตั้งจุดทิ้งขยะ เดินเก็บขยะ และยืนรับขยะจากประชาชนที่เดินผ่านไปมา

 “ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา กทม.ได้ให้เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดจากเขตต่างๆ มาช่วยกันเก็บขยะในบริเวณท้องสนามหลวงและโดยรอบ ซึ่งพวกเราไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะเป็นการทำเพื่อพ่อหลวง แม้ว่าในวันที่ 26 ต.ค. จะไม่มีโอกาสชมริ้วขบวน แต่ครั้งหนึ่งพวกเราเคยเข้าไปกราบสักการะพระบรมศพในชุดเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดแล้ว ถือเป็นความภูมิใจสูงสุด”

อัศจรรย์ความรู้สึก หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9

 เช่นเดียวกับ บุญลือ แสงดาว ศิลปินอิสระบนวีลแชร์วัย 46 ปี ที่สมัครเข้าร่วมเป็นจิตอาสาเฉพาะกิจ ออกปฏิบัติหน้าที่บริการประชาชน บริเวณก่อนถึงจุดคัดกรองพระแม่ธรณีบีบมวยผม ด้วยการนำถังขยะวางไว้บนวีลแชร์และรับขยะจากประชาชนที่เดินผ่านไปมา

 “ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบในเรื่องของความเพียร งานศิลปะเป็นงานที่ต้องใช้ความเพียรอยู่แล้ว และยิ่งผมเป็นศิลปินผู้พิการก็ยิ่งต้องมีความเพียรเป็นที่ตั้ง ต้องสู้อย่างสูงกว่าจะสำเร็จ” เขากล่าว

 ไม่ต่างจากพสกนิกรในสนามหลวงที่ร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งส่วนใหญ่รอคอยก่อนเข้าพื้นที่นานกว่า 24 ชั่วโมง อย่าง บุปผา นรินทรางกูร ชาวปทุมธานีวัย 75 ปี ที่เดินทางมาพร้อมครอบครัวพร้อมใจมั่นว่า อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้

 “วินาทีที่เห็นพระเมรุมาศอยู่ตรงหน้า น้ำตามันไหลออกมาเอง นึกถึงภาพของพระองค์ท่านเมื่อครั้งวันวาน บรรยายความรู้สึกออกมาไม่ถูก พูดทีไรก็น้ำตาไหล” เธอถ่ายทอดความรู้สึก

 ด้าน ณัฏฐ์วิโชติ วงศ์ณรัชชะเดช พสกนิกรผู้จงรักภักดีที่เดินทางมาเฝ้าฯ รับเสด็จทุกครั้ง พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 กล่าวว่า ใช้เวลารอจนกระทั่งได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ท้องสนามหลวงนานถึง 36 ชั่วโมง ท่ามกลางแดดร้อนจัดและสายฝนถึง 6 ครั้ง

 “ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเข้ามาได้ใกล้สุดแค่ไหน บอกตัวเองว่า ขอแค่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ท่านที่สุด เพื่อส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย ตั้งแต่ได้เข้ามารอหน้าพระเมรุมาศ ผมรู้สึกว่าไม่อยากให้ถึงวันนี้เลย ผมไม่นอน ขอนั่งมองพระเมรุมาศ มองไปก็น้ำตาไหล และขอกอดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านอยู่ตรงนี้จนกว่าพระราชพิธีจะเสร็จ” เขากล่าว

 นอกจากนี้ ยังมีนิสิตจากภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่รวมกลุ่มกันมา 4 คน เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ หลังจากที่เคยร่วมในเหตุการณ์อัญเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2559

 “พวกเราใช้เวลา 23 ชั่วโมง เพื่อผ่านเข้ามาในสนามหลวง โดยการรอคอยครั้งนี้สอนให้พวกเรารู้จักความอดทน และได้เห็นน้ำใจของคนไทยด้วยกัน เราอยู่ตรงนี้มีจิตอาสานำน้ำและอาหารมาแจกจ่ายให้อิ่มท้องตลอด แม้อุปสรรคอย่างเดียวจะเป็นสภาพอากาศที่ร้อนจัด แต่พวกเราก็ไม่ท้อถอย เพราะมีพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างของความเพียร” ตัวแทนกลุ่มนิสิตกล่าว

..........ล้อมกรอบ............

เกร็ดย่อยหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9

 + รองนายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือปฏิบัติหน้าที่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติ

 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมกองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (กอร.พระราชพิธีฯ) ว่าการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย สมพระเกียรติ

 พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกหน่วยงานได้ทำงานอย่างเต็มที่ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือให้งานพระราชพิธีครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยและกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ของกรมประชาสัมพันธ์ที่สื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง และส่งมอบพื้นที่เขตราชวัติและพื้นที่โดยรอบสนามหลวง ให้กับ กอร.รส. ของกองทัพภาคที่ 1 เพื่อดูแลเตรียมพร้อมพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการพระเมรุมาศให้ประชาชนได้เข้าชม ระหว่างวันที่ 2-30 พ.ย. 2560

 + ยอดรวมผู้ถวายดอกไม้จันทน์ในการพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมทั่วประเทศ 19.08 ล้านคน

 กรุงเทพมหานคร 2.89 ล้านคน

 ภูมิภาค 16.1 ล้านคน จังหวัดที่มีสถิติมากที่สุด 5 อันดับแรก

 - นครราชสีมา 824,839 คน

 - นครศรีธรรมราช 670,000 คน

 - อุบลราชธานี 649,103 คน

 - เชียงใหม่ 620,156 คน

 - นนทบุรี 498,000 คน

+ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2560 ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวไทยเป็นอย่างสูง และเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลมากมาย จากสถิติของ Thaitrend ที่เก็บสถิติการใช้งาน Twitter ในประเทศไทย ระบุว่าวันที่ 26 ต.ค. มีข้อความทวีตจำนวน 13.78 ล้านข้อความ (นับรวมจำนวนการ retweet) สูงกว่าวันปกติที่มีประมาณ 9-10 ล้านข้อความ

 ถ้าดูกราฟตามช่วงเวลาของวัน จะเห็นว่าปริมาณข้อความทวีตเพิ่มขึ้นจากปกติในช่วงบ่าย และพุ่งสูงสุดในเวลา 22.00-23.00 น. โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2.6 หมื่นกว่าข้อความ/นาที

+ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT เปิดเผยว่า เพื่อให้การถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่วันที่ 25-29 ต.ค. 2560 เป็นไปด้วยความยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ CAT ได้จัดเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าดูแลงานระบบ Streaming ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับการถ่ายทอดพระราชพิธีฯ ทั้งการรับชมแบบสด (Live) และแบบย้อนหลัง (Video on Demand) ผ่านทางเว็บไซต์ www.kingrama9.th/live ของกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยระบบเสียงภาษาไทยและเสียงภาษาอังกฤษ แก่ผู้ที่ต้องการรับชมในทุกรูปแบบทั้งจากในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก

 โดยสถิติผู้รับชมผ่านทาง www.kingrama9.th/live เมื่อวันที่ 26 ต.ค.60 มียอดผู้เข้าชมพระราชพิธีฯ ด้วยเสียงภาษาไทย จำนวนกว่า 604,384 ครั้ง และภาษาอังกฤษกว่า 76,455 ครั้ง ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามรับชมได้ที่ http://www.kingrama9.th จนถึงวันที่ 29 ต.ค. 2560

+ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ขอเชิญผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกเหตุการณ์ เนื่องในการแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 นันทกา พลชัย หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์เอกสาร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่าวเชิญผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกเหตุการณ์ เนื่องในการแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ว่า สามารถจัดส่งภาพที่มีขนาดมากกว่า 1 MB นามสกุล TIFF หรือ JPEG บันทึกลงในแผ่นซีดี พร้อมจัดส่งรายละเอียดข้อมูล ประกอบด้วย ชื่อและนามสกุลของผู้บันทึกภาพ สถานที่ติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อภาพ วันเดือนปี สถานที่ที่ปรากฏในภาพ มายังสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 สำหรับผู้ที่สนใจร่วมส่งบทความ แสดงความรัก ความอาลัย ต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย และจัดเก็บเป็นเอกสารจดหมายเหตุ สามารถส่งไปรษณีย์มายังสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จ่าหน้าซองไปรษณีย์ระบุ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (กลุ่มบันทึกเหตุการณ์) ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทรสาร 02-282-3826 ทาง Facebook : Article Nat Line : article.nat  E-mail : articlenat @gmail.com พร้อมทั้งระบุชื่อ-นามสกุลผู้เขียน ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-281-1599, 02-281-1666 ต่อ 141-145