posttoday

คปภ.-บริษัทประกันแจ้งความกองปราบเอาผิดแก๊งหลอกขายประกัน

16 ตุลาคม 2560

คปภ.พร้อมบริษัทประกันและผู้เสียหายเข้าแจ้งความกองปราบเอาผิดแก๊งหลอกขายประกันรถยนต์เสียหายกว่า 3 ล้านบาท

คปภ.พร้อมบริษัทประกันและผู้เสียหายเข้าแจ้งความกองปราบเอาผิดแก๊งหลอกขายประกันรถยนต์เสียหายกว่า 3 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ กองบังคับการปราบปราม นายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการด้านกฎหมายคดีและคุ้มครอง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจปนะกันภัย(คปภ.) พร้อมด้วย ตัวแทนบริษัทประกันภัย จำนวน 9 บริษัท และผู้เสียหายจากการถูกหลอกซื้อประกันภัยรถยนต์ จำนวน 30 คน มูลค่าความเสียหาย 3 ล้านบาท เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม (รองผบก.ป.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.วราพร บุตรแสน และ นายชาญยุทธ โสมาศรี กรรมการบริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด โดยนำเอกสารหลักฐานการโอนเงินของผู้เสียหาย มามอบให้พนักงานสอบสวนประกอบในการพิจรณาคดี

นายตนุภัทร กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจปนะกันภัย(คปภ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 200 คน ถูกบริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด เสนอขายประกันภัยรถยนต์ผ่านทางโทรศัพท์อ้างว่ามีโปรโมชั่นพิเศษ เช่น สามารถผ่อนได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือหากจ่ายเงินสดจะได้รับกล้องติดหน้ารถ   เมื่อผู้เสียหายได้ตกลงทำประกันและได้ทำการชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย ต่อมาผู้เสียหายจึงได้แจ้งมายังบริษัทประกันภัยต้นสังกัดให้ช่วยตรวจสอบ ซึ่งไม่พบข้อมูลการซื้อประกันภัย ทางผู้เสียหายจึงได้แจ้งกลับไปยังบริษัทเอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงหรือหากจะคืนเงินจะต้องมีการหักค่าใช้จ่ายในการคืนเงินหรือบางรายไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ดีผู้เสียหายบางรายเพียงให้เลขบัตรเครดิตกับทางบริษัทเอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด เพื่อตรวจสอบรายละเอียดกลับถูกบริษัทตัดเงินในบัตรเครดิตไปเลย

นายตนุภัทร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด ได้มีการลงโฆษณาในเว็บไซต์ www.smpinsure.com โดยมีการใช้ตราสัญลักษณ์ของบริษัทประกันภัยหลายบริษัท ซึ่งทางสำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบจากฐานข้อมูลใบอนุญาตตัวแทนประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันภัย พบว่า บริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด ไม่มีใบอนุญาตเป็นายหน้าประกันภัยวินาศภัย ส่วน นายชาญยุทธ โสมาศรี ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันภัยวินาศภัยของบริษัท วิริยะ ประกันภัย จำกัด นั้นปัจจุบันถูกยกเลิกใลอนุญาตไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 60 และ น.ส.วราพร บุตรแสน ถูกได้นายทะเบียนเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัยวินาศภัยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้วที่สน.สุทธิสาร ในข้อหา “ยักยอกทรัพย์”, ”ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม” นอกจากนี้จะดำเนินคดีกับเว็บไซต์ www.smpinsure.com ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)

ด้าน พ.ต.อ.ชาคริต กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจปนะกันภัย(คปภ.) ได้ประสานมายังกองบังคับการปราบปราเกี่ยวกับกรณีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบริษัทนายหน้าหลอกขายประกันภัยรถยนต์ ซึ่งวันนี้ได้จัดพนักงานสอบสวนไว้สอบปากคำผู้เสียหาย ทั้งนี้ในส่วนของความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของบริษัทดังกล่าวจะเข้าในฐานความผิด”ฉ้อโกงประชาชน” และ “” หากประชาชนท่านใดตกเป็นเหยื่อสามารถเข้าแจ้งความได้ที่กองบังคับการปราบปราม

“อยากจะฝากเตือนกรณีได้รับโทรศัพท์เสนอขายประกันภัยหรือบัตรเครดิต ประชาชนควรตรวจสอบกับบริษัทประกันภัยต้นสังกัดก่อน อีกทั้งอย่าไปคล้อยตามคำชักชวนต่าง ๆ โดยเฉพาะโปรโมชั่น ส่วนลด หรือผลประโยชน์ ที่ทางคนร้ายนำมาเป็นแรงจูงใจ  ที่ได้รับการเสนอ“ พ.ต.อ.ชาคริต กล่าวเตือน 

ส่วนทาง หนึ่งในผู้เสียหาย ชาวจ.สระบุรี ที่เดินทางเข้าแจ้งความในวันนี้ เปิดเผยว่า ถูกบริษัทบริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด โทรศัพท์มาเสนอขายประกันภัย โดยครั้งแรกได้ปฏิเสธไปเนื่องจากยังไม่สนใจ ต่อมาทางบริษัทยังติดต่อมาอีกครั้ง ซึ่งตนก็บอกไปว่าไม่เงินพอมีเพียงบัตรเครดิต ทางบริษัทจึงขอเลข 16 หลักหน้าบัตรเครดิต โดยอ้างว่าจะตรวสอบโปรโมชั่นให้ จากนั้นไม่นานพบว่ามีใบแจ้งยอดจากบัตรเครดิตว่าได้มีการจ่ายให้กับ บริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด ไปจำนวน 15,145 บาท ซึ่งตนก็ยังไม่ทราบว่าได้มีการตัดเงินในบัตรไปตอนไหน จึงได้ติดต่อกลับไปบริษัทเพื่อสอบถามก็กลับได้รับคำบ่ายเบี่ยงเมื่อขอเงินคืน จนสุดท้ายไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

สำหรับตัวแทนทั้ง 9 บริษัทประกันภัยที่เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับริษัทบริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์จำกัด ประกอบไปด้วย บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ประกันภัยคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โตเกียวประกันภัย จำกัด (มหาชน)