posttoday

รัฐระบายน้ำเขื่อนรับฝนระลอกใหม่

10 ตุลาคม 2560

รัฐบาลระบายน้ำเขื่อน รับฝนระลอกใหม่ เตือนท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระดับน้ำสูงขึ้น 1.5 เมตร นายกฯ กำชับบูรณาการแก้ไขปัญหาฝนตกหนักในหลายพื้นที่

รัฐบาลระบายน้ำเขื่อน รับฝนระลอกใหม่ เตือนท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระดับน้ำสูงขึ้น 1.5 เมตร  นายกฯ กำชับบูรณาการแก้ไขปัญหาฝนตกหนักในหลายพื้นที่

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่  และบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน เตรียมรับมือกับฝนที่จะมาใหม่ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดว่าระหว่าง  13   ต.ค.เป็นต้นไปจะมีพายุก่อตัวในบริเวณประเทศเวียดนาม  ส่งผลให้มีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนกลุ่มนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง  

ดังนั้น รัฐจะเริ่มระบายน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเพียงพอลงมา โดย  กรมชลประทานได้เตรียม เพิ่มการะบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา  2,000-2,600  ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที  ซึ่งคาดว่าจะทำให้ระดับน้ำนอกคันกั้นน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นต้นมา สูงกว่าตลิ่งประมาณ  1.5 เมตร  และได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประชาชนเพื่อลดผลกระทบ

"ท่านนายกฯกำชับว่าการชี้แจงต้องให้ประชาชนเห็นว่า ไม่ได้ป้องกันหรือห่วงเฉพาะกทม.หรือห่วงนิคมอุตสาหกรรม มากกว่าประชาชนนอกคันกั้นน้ำ   แต่การท่วมในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเป็นวิถีชีวิตทางธรรมชาติที่ประชาชนในพื้นที่ทราบดี เมื่อมีการระบายเพิ่มหรือลดลง   แต่ในคันกั้นน้ำจะไม่ได้รับผลกระทบ   เพราะบางไทรรับน้ำได้ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะไม่ล้นคันกั้นน้ำ ไม่กระทบกท.หรือนิคมอุตสาหกรรม   และประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ  เนื่องจากมีบิดเบือนข้อมูลกัน  ประชาชนจะได้ฟังข้อเท็จจริงทั้งหมด นอกจากนั้น นายกฯได้สั่งการใก้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่ตนเองดูแลทั้งหมดว่ายังแข็งแรงดีหรือไม่ ในขณะที่เขื่อน และอ่างของกรมชลฯและการไฟฟ้าปลอดภัยและไม่มีปัญหาอะไร"พล.ท.สรรเสริญกล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากที่กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มากขึ้นจากแผนเดิม 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างยังคงมีฝนตกชุกกระจาย ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะทยอยเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนจนถึงอัตรา 2,600 ลบ.ม. ต่อวินาที ในวันที่ 12 ต.ค. 60 และจะคงการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว ต่อเนื่องไปประมาณ 1 สัปดาห์ ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาทไปจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นประมาณ  80 เซนติเมตร  – 1.20 เมตร  ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเดิมมีระดับสูงขึ้น ได้แก่ บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และอ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และระบายผ่านระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ รวมกันวันละประมาณ 474 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง เพื่อลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่าง

กรมชลประทาน ยังได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกโครงการในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะโครงการฯที่มีพื้นที่ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา จัดส่งเจ้าหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และกระสอบทราย เข้าไปช่วยเหลือเร่งระบายน้ำในพื้นที่ชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมแล้ว

ในส่วนของการรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง พื้นที่ฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 387.40 ล้านลบ.ม.  จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 437 ล้านลบ.ม.  และพื้นที่ฝั่งตะวันตก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 500  ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 1,077 ล้านลบ.ม. รวมทั้งสองฝั่งรับน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 887.67 ล้านลบ.ม.  จากความจุเก็บกักสูงสุดที่รับได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำป่าสัก  กรมชลฯได้เพิ่มการระบายน้ำออกวันละ  30 ล้านลบ.ม.จากเดิม 25 ล้านลบ.ม.   พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำป่าสัก มีฝนตกชุก  ปัจจุบัน10 ต.ค. 60 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 878 ล้านลบ.ม. คิดเป็น  91%  ของความจุที่ระดับเก็บกัก คงเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกเพียง 82 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น  ในขณะที่ยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนของภาคกลาง

สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% กรมชลฯรายงานว่า  อาทิ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา  เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง  เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนบางพระ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว