posttoday

เตือนรถโดยสารแปลงไฟหน้า-ไฟท้ายสว่างเกิน-กระพริบ-แสงสีผิดกฎหมาย

09 ตุลาคม 2560

ขนส่งฯชี้รถโดยสารสาธารณะดัดแปลงโคมไฟหน้า-โคมไฟท้ายรถ สว่างจ้ามากเกิน-ใช้แสงกะพริบ-แสงสีต่างๆ ผิดกฎหมาย

ขนส่งฯชี้รถโดยสารสาธารณะดัดแปลงโคมไฟหน้า-โคมไฟท้ายรถ สว่างจ้ามากเกิน-ใช้แสงกะพริบ-แสงสีต่างๆ ผิดกฎหมาย

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้รับแจ้งจากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเกี่ยวกับกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากรถโดยสารไม่ประจำทาง รถบัสเช่าเหมา ที่ติดตั้งโคมไฟจำนวนหลายดวงบริเวณโดยรอบด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ รวมถึงรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ เช่น รถตู้โดยสาร ที่มีการปรับแต่งทิศทางการส่องสว่างของโคมไฟหน้ารถให้สูงขึ้นจากเดิม หรือดัดแปลงอุปกรณ์ส่วนควบหรือเพิ่มเติมส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าไป จนทำให้แสงมีความสว่างจ้ามากจนเกินไป การดัดแปลงโคมไฟท้ายรถเป็นแสงกะพริบหรือใช้แสงสีต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับโคมไฟต่าง ๆ ของรถทุกประเภทไว้แล้ว ทั้งตำแหน่งการติดตั้ง จำนวนโคมไฟ ความสว่าง ทิศทางการส่องสว่างและสีของแสง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน เช่น รถโดยสารกำหนดให้มีโคมไฟแสงพุ่งต่ำได้ไม่เกิน 2 ดวง และมีโคมไฟแสงพุ่งไกลได้ไม่เกิน 2 ดวง โดยมีแสงขาวหรือเหลืองอ่อน ไม่สว่างจ้าจนเกินไป ติดตั้งอยู่ในระดับเดียวกันที่หน้ารถด้านซ้ายและขวา สูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร และต้องมีทิศทางส่องสว่างไปด้านหน้าโดยจะต้องไม่เบี่ยงเบนไปทางด้านขวา หรือส่องขึ้นสูงเกินไปจนทำให้รบกวนสายตาผู้อื่น

ส่วนโคมไฟเลี้ยวต้องเป็นแสงสัญญาณกะพริบสีอำพัน ติดที่ด้านหน้า 2 ดวง ด้านท้าย 2 หรือ 4 ดวง โคมไฟหยุด ติดตั้งที่ด้านท้าย จำนวน 2 หรือ 4 ดวง ต้องเป็นแสงแดงสม่ำเสมอคงที่ ไม่กะพริบ โคมไฟส่องป้ายทะเบียน เป็นแสงขาว จำนวน 1 หรือ 2 ดวง ติดตั้งที่ป้ายทะเบียนด้านท้ายของรถ เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน กรมการขนส่งทางบกมีมาตรการเข้มงวดตรวจสอบ กรณีพบรถโดยสารสาธารณะฝ่าฝืนดัดแปลงอุปกรณ์ส่องสว่างในลักษณะดังกล่าว เป็นความผิดตามตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 71 ฐานใช้รถที่มีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ถูกต้องตามที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และอาจถูกสั่งระงับการใช้รถจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกัน ในส่วนของรถที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ที่มีการแก้ไขดัดแปลงโคมไฟหน้าให้เป็นแสงสีอื่น หรือดัดแปลงอุปกรณ์ส่วนควบหรือเพิ่มเติมส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าไป จนทำให้แสงมีความสว่างจ้ามากจนเกินไป มีความผิดตามมาตรา 12 ฐานเพิ่มเติมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบรถที่มีการดัดแปลงอุปกรณ์ส่องสว่างผิดกฎหมายสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน ได้ที่ E-mail : [email protected], LINE : 1584กรมการขนส่งทางบก, Facebook : https://www.facebook.com/dlt1584/ หรือ “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ” โดยต้องแนบหลักฐานเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ระบุสถานที่ เวลาที่พบเหตุ ชื่อและข้อมูลผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยได้กำชับสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่งเข้มงวดตรวจสภาพรถให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และขอความร่วมมือสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) หากพบว่าอุปกรณ์ส่องสว่างของรถยนต์ที่เข้ารับบริการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องแจ้งเจ้าของรถแก้ไขให้ถูกต้องและให้ถือว่าผลการตรวจสภาพรถไม่ผ่าน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย หากแสงไฟส่องเข้าตาผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น ทำให้สายตาพร่ามัว อาจเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุได้