posttoday

กทม. เผย "ทางเท้า" พังง่ายเพราะใต้พื้นเป็นดินเหนียว-ใช้งานผิดวัตถุประสงค์

02 ตุลาคม 2560

ผอ.สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ กรุงเทพมหานคร เผยสาเหตุของการทรุดตัวเเละความย่ำเเย่ของทางเท้าในกทม.

ผอ.สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ กรุงเทพมหานคร เผยสาเหตุของการทรุดตัวเเละความย่ำเเย่ของทางเท้าในกทม.

ภาพชายหนุ่มเดินอยู่ในกทม. เเล้วจู่ๆ "ฟุตปาธ" เกิดทรุดตัวพังลงไปจนขาของเขาล่วงลงไปเเทบมิด กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคม โดยมีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในชีวิตการเดินเท้าเเละสาเหตุของการทรุดตัว

ต่อประเด็นดังกล่าว โพสต์ทูเดย์เคยสัมภาษณ์ ธิติ ทรงเจริญกิจ ผอ.สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ กรุงเทพมหานคร ถึงการออกเเบบ ก่อสร้าง เเละบำรุงรักษา ตลอดจนสาเหตุการทรุดโทรมของทางเท้า ได้ความว่า ปัจจัยที่ทำให้ทางเท้าเสียหายนั้นมีอยู่ด้วยัน 2 สาเหตุหลัก ดังนี้ 

1.กายภาพและการพัฒนาสาธารณูปโภค

สภาพดินของกรุงเทพมหานครเป็นดินเหนียวอ่อน และเกิดการทรุดตัวได้ง่ายกว่าในหลายเมืองทั่วโลก เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นชั้นหินเก่า ขณะเดียวกันการซ่อมแซมพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งไฟฟ้า ประปา ป้ายบอกเส้นทาง เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ทำการขุดเจาะ เปิดพื้นที่ให้กับสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดินแล้วทำการซ่อมคืน มักทำได้ไม่สมบูรณ์และใช้งานได้ดีดังเดิม  ส่วนการก่อสร้างที่อาจต่ำกว่ามาตรฐานของผู้รับเหมานั้นมีปัญหาน้อยมาก เนื่องจากมีการกำหนดและควบคุมมาตรฐานอยู่แล้ว

2.การใช้งานผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งพบได้มากกว่า 80 เปอร์เซนต์

“บ้านเรายังมีการปล่อยให้ค้าขายได้บนทางเท้า ร้านอาหารกลายเป็นแหล่ง เทน้ำ ทิ้งเศษขยะลงบนฟุตบาทจนเป็นเรื่องปกติ ทำให้คราบน้ำต่างๆ ซึมเข้าไปลงในดิน สะสมนานเข้า กลายเป็นปัญหาทรุดตัวตามมา นอกจากนั้นยังมีพวกชอบขับและจอดจักรยานยนต์บนทางเท้าที่มีผลให้ทรุดโทรมเร็วกว่ากำหนด”

 

กทม. เผย "ทางเท้า" พังง่ายเพราะใต้พื้นเป็นดินเหนียว-ใช้งานผิดวัตถุประสงค์

 

ธิติ กล่าวว่า ฟุตปาธที่เป็นลักษณะอิฐตัวหนอนหรือกระเบื้องปูนซีเมนต์นั้นมีอายุการใช้งานโดยปกติถึง 10 ปี แต่เนื่องจากปัจจัยข้างต้นทำให้ทุกวันนี้พบว่า เกิดความเสียหายอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นเสียงบ่นจากคนกรุง

“ปัจจุบัน กทม.ได้ปรับเปลี่ยนฟุตปาธจากอิฐตัวหนอนเป็นกระเบื้องซีเมนต์สี่เหลี่ยมแล้วในหลายพื้นที่ เนื่องจากเหมาะสมกับการใช้งาน ติดตั้งได้รวดเร็วและมีความเรียบกว่าตัวหนอน เวลาเกิดการทรุดตัวก็สร้างความลำบากให้ผู้ใช้น้อยกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อเจอการใช้งานผิดวัตถุประสงค์ก็ไม่สามารถทนต่ออาการทรุดและเสื่อมโทรมได้อยู่ดี”

ความเข้าใจและเสียงนินทาที่ว่า กทม.ชอบ ปูๆ รื้อๆ เพื่อผลาญงบประมาณนั้น ผู้ดูแลรายนี้ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนอยากก่อสร้าง ซ่อมแซม และโดนประชาชนด่าทออยู่แล้ว

“ขอชี้แจงว่าขั้นตอนการก่อสร้างและวัสดุที่ใช้นั้นมีมาตรฐาน เหมาะสมกับการใช้งานและงบประมาณที่ได้รับแน่นอน เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ฟุตปาธกทม. มีการใช้งานที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์จริง หากไปดูเมืองที่สวยงามทั่วโลกในต่างประเทศ จะพบว่า เขามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และฝ่าฝืนกันน้อยมากแทบไม่มีเลย ผิดกับเมืองไทย ทางออกของเรื่องนี้ก็คือ นอกจากก่อสร้างให้เรียบร้อยตามหลักการแบบแผนแล้วประชาชนทั่วไปก็ต้องใช้งานให้ถูกต้องด้วย”

ทั้งนี้สำหรับการเรียกร้องความเสียหายจาก กทม. นั้น เมื่อช่วงต้นปี 2016 เคยปรากฎเหตุการณ์ชายหนุ่มเดินตกท่อที่ชำรุด จนได้รับบาดเจ็บเย็บกว่า 100 เข็ม และไม่สามารถทำงานได้

ครั้งนั้นหลังจากเจรจา กทม. ได้จ่ายเงินเป็นค่ารักษาพยาบาล , ค่ารักษาพยาบาลหลังจากออกจากโรงพยาบาล , ค่าเสียโอกาสในการทำงาน นอกจากนี้ยัง ได้รับการรักษาเป็นกรณีพิเศษจากโรงพยาบาลในเครือของกรุงเทพมหานคร เป็นการตกแต่งหรือศัลยกรรมบาดแผลให้กลับมาเป็นปกติ