posttoday

สภาวิชาชีพด้านสุขภาพขานรับแนวปฏิบัติฯใช้โซเชียลมีเดีย

28 กันยายน 2560

วิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขตื่นตัวดูแลการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพอย่างจริงจังหลังมีผลบังคับในราชกิจจานุเบกษา

วิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขตื่นตัวดูแลการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพอย่างจริงจังหลังมีผลบังคับในราชกิจจานุเบกษา

แนวปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ มีผลบังคับใช้นับแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้วิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข เกิดความตื่นตัวที่จะเข้ามาดูแลการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของบุคลากรอย่างจริงจังมากขึ้น

นางสมจิตร์ จินาภักดิ์ ประธานอนุกรรมการสารสนเทศและการสื่อสารองค์กร สภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า สภาเทคนิคการแพทย์ ได้สื่อสารและสร้างความเข้าใจกับสมาชิกกว่า 16,000 คน ถึงแนวปฏิบัติฯ ที่ออกมาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมนำขึ้นเว็บไซต์ www.mtcouncil.org เพื่อแจ้งให้สมาชิกและประชาชนทั่วไประมัดระวังการใช้โซเชียลมีเดียทุกรูปแบบทั้งในวิชาชีพและส่วนตัว

“สมาชิกเข้าใจและตอบรับในทางที่ดี เพราะแนวปฏิบัติฯ สอดคล้องกับสถานการณ์โลก การใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบันสุ่มเสี่ยงต่อความผิดตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และหลายครั้งขาดความเหมาะสม จนอาจทำให้เกิดปัญหาต่อผู้รับบริการสาธารณสุขได้”

ทั้งนี้ ด้วยสภาเทคนิคการแพทย์มีจรรยาบรรณวิชาชีพกำกับอยู่ด้วย จึงถือว่าปฏิบัติตามได้ไม่ยากเพราะในข้อบังคับสภาฯ ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2553 หมวด 2 ข้อ 18 กำหนดไว้ว่า“ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้มารับบริการซึ่งเว้นแต่ด้วยความยินยอมของผู้รับบริการหรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่” และในเชิงปฏิบัติก็มีมาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ปี 2560 ตามข้อกำหนด MT 1.1.2.10 การปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ป่วยด้วย

อย่างไรก็ตามบางส่วนของแนวปฏิบัติฯ มีเนื้อหาและรายละเอียดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดของสภาฯ อาทิ ในหมวด 5 ข้อ 19 ที่มีเนื้อความที่ใกล้เคียงกับข้อบังคับสภาฯ ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2553 หมวด 2 ข้อ 18 แต่มีข้อความเพิ่มเติมว่า “...แม้จะได้รับความยินยอมแล้วก็ตาม ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพพึงพิจารณาข้อดี-ข้อเสียของการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว ทั้งผลต่อผู้ป่วย ตนเอง และประโยชน์สาธารณะ ประกอบกันอย่างรอบคอบ”

นอกจากนั้น แนวปฏิบัติฯ ในหมวด 6 ข้อ 24 พึงระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่ากำลังให้ข้อมูลหรือหน้าที่ในฐานะผู้แทนขององค์กรโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งการใช้งานโซเชียลมีเดียมีโอกาสทำให้เข้าใจผิดได้ เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพบางท่านทำงานทั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและผู้แทนองค์กร

“เรื่องเหล่านี้จึงขอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติสร้างช่องทางที่สะดวกในการติดต่อสอบถามประเด็นต่างๆ โดยตรง อาทิ ตั้งกลุ่มงานเฉพาะกิจ สำหรับให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีองค์กรวิชาชีพ หรือผู้ประกอบวิชาชีพมีข้อสงสัย”

สำหรับสถานพยาบาล อย่างโรงพยาบาลรามคำแหง ถือว่าตื่นตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่แนวปฏิบัติฯ เริ่มประกาศใช้ใหม่ๆ

นางสมจิตร์ เล่าต่อว่า ทางโรงพยาบาลรามคำแหงที่ตนดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกห้องปฏิบัติการอยู่นั้น ได้สื่อสารภายในอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานระมัดระวังการใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงปิดประกาศตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล เพื่อสื่อสารกับผู้มารับบริการ อาทิ ห้ามถ่ายรูป หรืออัดวีดิโอ ซึ่งเป็นต้นตอของการขยายผลไปยังโซเชียลมีเดียได้ ทั้งนี้การที่โรงพยาบาลเอกชนตื่นตัวกันสูงในเรื่องนี้ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องโดยง่ายจากผู้มารับบริการหากมีการทำผิดพลาดเกิดขึ้น

ด้านทันตแพทยสภาเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่ตื่นตัวในการนำแนวปฏิบัติฯ มาใช้อย่างแพร่หลาย นายอรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา ระบุว่า หลังจากแนวปฏิบัติฯ ประกาศใช้ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมทันตแพทยสภาแล้ว และสื่อสารผ่านไลน์กลุ่มไปที่กรรมการและสมาชิกด้วย แต่สิ่งที่ต้องย้ำคือต้องไม่ทำให้เป็นมาตรการบังคับ หรือนำบทลงโทษมาเป็นตัวตั้ง แต่มุ่งเน้นกระตุ้นเชิงบวกให้สมาชิกตระหนักด้วยตนเอง ยกย่องคนทำดี และรณรงค์อย่างต่อเนื่องผ่านทุกช่องทาง ทั้งไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ก หรือวารสารที่ทุกองค์กรจัดทำกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ผ่านมาระยะหนึ่ง นายอรรถพร ระบุว่า ตอนนี้เข้าสู่ยุคที่ 2 คือ คนผ่านการเรียนรู้มีสติในการใช้ หรือมี “ต่อมเอ๊ะ” กันมากขึ้น ช่วยกลั่นกรองข้อมูลที่ไม่จริงออกไป ขณะที่สื่อมวลชนเองก็มีรายการต่างๆ เพื่อรณรงค์ในเรื่องนี้ อาทิ “ชัวร์ก่อนแชร์”

“แนวปฏิบัติฯ ที่ออกมานั้น สร้างความตระหนักให้วิชาชีพได้อย่างดี มีการวางกรอบการใช้โซเชียลมีเดียอย่างครบถ้วน เพียงแต่ต้องย่อยให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยทำในรูป โปสเตอร์ กราฟฟิก รูปภาพ และเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ในส่วนทันตแพทยสภาก็จะทำงานเชิงรณรงค์ต่อไปผ่านกลุ่มจรรยาบรรณ และสื่อสารกับประชาชน โรงเรียนแพทย์ เพราะเป้าหมายใหญ่คือการมุ่งคุ้มครองผู้บริโภค”

สามารถศึกษารายละเอียดแนวปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nationalhealth.or.th/the-rights-to-health   และ Facebook : สช.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 
• สช.แนะไกด์ไลน์ใช้สื่อโซเชียล “โพสต์-เซลฟี” ไม่ละเมิดสิทธิสุขภาพhttps://www.nationalhealth.or.th/node/2073
• สช.เดินหน้าคุ้มครองข้อมูลสุขภาพคนไทย https://www.nationalhealth.or.th/node/2061 
• สช. วางแนวปฏิบัติใหม่คุ้มครองสิทธิผู้ป่วย คุ้มครองข้อมูลสุขภาพในยุคดิจิตอล https://www.nationalhealth.or.th/node/1951   
• รู้จักและเข้าใจ : สิทธิด้านสุขภาพ https://www.nationalhealth.or.th/the-rights-to-health
 
ภาพประกอบที่มา www.ot.ams.cmu.ac.th