posttoday

"พีมูฟ"จี้รัฐหยุดดำเนินคดีชาวบ้านกรณีทวงคืนผืนป่า

25 กันยายน 2560

พีมูฟจี้รัฐยุติดำเนินคดีชาวบ้านกรณีทวงคืนผืนป่า เร่งจัดหาที่ดินทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

พีมูฟจี้รัฐยุติดำเนินคดีชาวบ้านกรณีทวงคืนผืนป่า เร่งจัดหาที่ดินทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ยุติการปฏิรูปที่เพิ่มอำนาจรัฐ เอื้อประโยชน์ทุน ลดอำนาจประชาชน ผลักคนจนให้เป็นศัตรูกับรัฐบาล มีเนื้อห่ดังนี้

นับจากการเข้ายึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ขจัดคอรัปชั่น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต่อมาได้มีการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่ในการศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ขจัดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ พีมูฟ) ในฐานะเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐ ได้จับตาการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเสนอแนะและเรียกร้องต่อรัฐบาลผ่านกลไกของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ ๔ ปี พบว่ารัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความเป็นธรรม และก่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง มิหนำซ้ำประเทศไทยยังไต่ระดับขึ้นมาเป็นอับดับ ๓ ของโลก ที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด โดยคนรวยเพียง ๑% สามารถครอบครองทรัพย์สินและความมั่นคงมากถึงร้อยละ ๕๘

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปิดโอกาสให้นายทุนได้เช่าป่าและที่ดินของรัฐได้ยาวนานถึง ๙๙ ปี ผ่านโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การยกป่าให้นายทุนทำเหมืองแร่ สร้างโรงงาน โรงไฟฟ้า ปลูกป่าเศรษฐกิจ ระเบิดเกาะแก่ง และสร้างเขื่อน แต่ในทางกลับกันรัฐบาลกลับมีนโยบายแย่งยึดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนคนยากจน ในนามนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” เพื่อชดเชยพื้นที่ป่าที่สูญเสียไปจากนโยบายของรัฐและทุน และประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินทำกินและชุมชน ทำให้คนในชุมชนนับล้านคนต้องกลายเป็นผู้บุกรุก ไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ครอบครัวล่มสลาย บ้านแตกสาแหรกขาด ลูกต้องออกจากโรงเรียน ต้องเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรมกลายเป็นรับจ้างหนี้สินท่วมท้น

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้มีการผลักดันมาตรการแนวทางและรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคง และยั่งยืน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉย และบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จาก

๑. ข้อเสนอในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ภายใต้ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า” เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินตามขนาดการถือครองที่ดิน คนที่มีที่ดินน้อยจ่ายน้อย คนที่มีที่ดินมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องจ่ายมาก และนำเงินภาษีส่วนหนึ่งมาสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินสู่คนจน แต่รัฐบาล และ สนช. กลับบิดเบือนเจตนารมณ์กลายเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง งดเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน ๕๐ ล้านบาทต่อแปลง ไม่มีแนวโน้มว่าจะจัดเก็บภาษีที่ดินทุกประเภท ในอัตราเดียวกัน และไม่นำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง

๒. การจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกและช่องทางให้คนจนและเกษตรกรเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยนำรายได้จากภาษีที่ดิน มาสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารที่ดิน เพื่อมิให้เป็นภาระด้านงบประมาณ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินที่รัฐบาลกำลังดำเนินการยกร่างและผลักดันอยู่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นสถาบันการเงิน ที่ยังต้องพึ่งพางบประมาณประจำปีจากรัฐบาล และแสวงหากำไร ไม่ต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

๓. การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ โดยการกระจายอำนาจและรองรับสิทธิชุมชน ในการบริหารร่วมกับรัฐ ในรูปแบบ ”โฉนดชุมชน” หรือกรรมสิทธิ์ร่วม รัฐบาลได้บิดเบือนข้อเสนอ โดยการรวมศูนย์อำนาจกลับไปยังรัฐภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เปลี่ยนจากการรองรับสิทธิชุมชน เป็นเพียงการอนุญาตจากหน่วยงานรัฐตามกฎเกณฑ์ และระเบียบของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน

๔. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมที่เป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ ในการเข้าถึงการประกันตัว การแสวงหาข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี แต่ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่รัฐบาลประกาศใช้ กลับกลายเป็นกลไกหนึ่งภายใต้กระบวนการยุติธรรม และให้อำนาจคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานอัยการ ฯลฯ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เป็นองค์คณะในการพิจารณา ส่งผลให้ ในหลายกรณีคนจนที่ขอใช้บริการจากกองทุนยุติธรรม ถูกปฎิเสธจากกองทุน เนื่องจากถูกกรรมการกองทุนฯ พิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในขณะที่กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชนก็ล้มเหลว และไม่มีประสิทธิภาพ เช่น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และมอบหมายให้นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในขณะที่กลไกที่เอื้อประโยชน์นายทุน อาทิ คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) คณะกรรมการร่วมรัฐ และเอกชน (กรอ.) ถูกผลักดันและขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง และทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนมีประสิทธิภาพ ดังนี้

๑.กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า ให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน และทบทวนแนวทางการปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ตลอดจนสนับสนุนแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน

๒.กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในชุมชน 5 พื้นที่ ให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ทบทวนหลักการจัดสรรงบประมาณตามมติ ครม. ๒๒ กุมภาพพันธ์ ๒๕๕๔ เพิ่มเติมในส่วนงบอุดหนุนในเกษตรกรผู้มีอัตราหนี้เพิ่ม ๒๓๐,๐๐๐ บาท ให้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับงบประมาณให้เปล่าในการพัฒนาสาธารณูปโภค ตามมติ ครม. ครัวเรือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งให้มีดอกเบี้ย คงเหลือ ๐.๕๐ สตางค์ ในการเช่าซื้อที่ดิน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรับภาระในการเช่าซื้อมากเกินไป อีกทั้งให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเร่งรัดดำเนินการธนาคารที่ดินในพื้นที่อื่นของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่ได้แสดงเจตจำนงค์ไว้แล้ว

๓. กรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อ.แม่สอด ให้เร่งการดำเนินการจัดหาที่ดินทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้ง ๖ ราย ได้แก่ นางพรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ แปลงที่ ๑ จำนวน ๙-๑-๘๒ ไร่ และ แปลงที่ ๒ จำนวน ๑-๓-๕๒ ไร่ นางน้อย เสนทา จำนวน ๘-๓-๖๓ ไร่ นางบัวตอง เครือคำวัง แปลงที่ ๑ จำนวน ๒๓ ไร่ (ภทบ.๕) แปลงที่ ๒ จำนวน ๑๗ไร่ (นส.๓) นายแก้ว อินทรักษ์ จำนวน ๔๕ ไร่ นายปานทอง พุทธตรัส จำนวน ๒๕-๒-๐ ไร่ และ นางนภาภรณ์ มูลเจริญพร จำนวน ๒๗-๐-๖๐ ไร่ อีกทั้งยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะเสร็จสิ้น

๔. กรณีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะต้องบรรจุระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดโฉนดชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ภายใต้การดำเนินการของ คทช. ตลอดจนปรับระเบียบของ คทช. ให้สอดคล้องกันในลักษณะการจัดการที่ดินแปลงรวมโดยชุมชน

๕. การดำเนินการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ เร่งรัดสั่งการให้มีการประชุม ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมของอนุกรรมทุกคณะ ไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ขปส. มีความล่าช้า

ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะติดตามจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข