posttoday

ศอตช.สรุปผลสอบ "เงินทอนวัด" พบมีมูลทุจริต173เรื่อง

23 กันยายน 2560

ศอตช.สรุปผลสอบเงินทอนวัด 498 เรื่อง มีมูลทุจริต 173 คดี สัปดาห์หน้าป.ป.ป.สรุปสำนวนส่งปปช.ไต่สวนความผิดอาญา พร้อมเสนอต้นสังกัดฟันวินัย

ศอตช.สรุปผลสอบเงินทอนวัด 498 เรื่อง มีมูลทุจริต 173 คดี สัปดาห์หน้าป.ป.ป.สรุปสำนวนส่งปปช.ไต่สวนความผิดอาญา พร้อมเสนอต้นสังกัดฟันวินัย 

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงการติดตามการตรวจสอบคดีเงินทอนวัด ว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังหน่วยตรวจสอบ อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) และป.ป.ท. รวมทั้งสิ้น 498 เรื่อง

ผลการตรวจสอบพบว่าคดีมีมูลการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ 173 เรื่อง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงการนำกำลังเข้าค้นหาหลักฐานในพื้นที่เป้าหมาย 14 จุด ของตำรวจป.ป.ป. ทั้งนี้ภายในสัปดาห์หน้า ป.ป.ป.จะสรุปสำนวนการสอบสวนกรณีการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ไต่สวนความผิดทางอาญา พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ศอตช.ประสานไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เพื่อให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยและปกครอง ควบคู่ไปกับการดำเนินคดีอาญา 

สำหรับพระสงฆ์หลักฐานยังไม่ปรากฏชัดถึงเจตนาในการกระทำความผิด เบื้องต้นข้อมูลบ่งชี้ไปในแนวทางว่า พระสงฆ์ถูกเจ้าหน้าที่หลอกให้เปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงินงบประมาณแล้วโอนเงินส่วนใหญ่คืนกลับเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าหน้าที่

"ปัญหาในคดีเงินทอนวัดสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการทุจริตในวงราชการ ซึ่งในอดีตถูกปล่อยปะละเลยไม่มีการตรวจสอบและป้องปรามอย่างจริงจังจากรัฐบาลชุดต่างๆ จนกระทั่งการทุจริตในวงราชการลุกลามเข้าไปในวัด ดึงวัดเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยวัดได้รับเงินเพียงแค่ 5-7% ของวงเงินงบประมาณ ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ถูกโอนกลับคืนเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่รัฐ"เลขาธิการป.ป.ท.กล่าว

แหล่งข่าวระบุว่า จากการตรวจสอบคดีเงินทอนวัดซึ่งพบมูลความผิดฐานทุจริตจำนวน 173 คดี บางเรื่องเกิดซ้ำขึ้นในวัดแห่งเดียว เนื่องจากมีการตั้งโครงการเพื่อขอรับงบประมาณหลายครั้ง ในส่วนของพระสงฆ์นั้นหากพิจารณาในแง่กฎหมาย ถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญาฐานร่วมกันทุจริต เพราะได้เซ็นชื่อเปิดบัญชีเพื่อรับเงินงบประมาณ รับโอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีส่วนตัวหรือบัญชรของวัดแล้วเบิกถอนเงิน ก่อนจะนำฝากเพื่อโอนเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่รัฐ และพบว่าพระสงฆ์บางรูปเปิดบัญชีร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในชั้นการดำเนินคดีอาญายังต้องพิสูจน์เจตนาในการรับและโอนเงินด้วยว่า กระทำลงไปเพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลอกให้หลงเชื่อ หรือกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเป็นการทุจริตงบประมาณของรัฐ