posttoday

แฉสถิติอันตราย"ผู้ชาย"กรุงเทพฯแชมป์ หึงหวง-ฆ่าเมีย

22 กันยายน 2560

สสส.เผยกทม.ครองแชมป์ฆ่าหึงหวง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ปมลึก อำนาจชายเป็นใหญ่ น้ำเมาตัวกระตุ้น วอนทุกฝ่ายเร่งสร้างทัศนคติเท่าเทียมทางเพศ

สสส.เผยกทม.ครองแชมป์ฆ่าหึงหวง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ปมลึก อำนาจชายเป็นใหญ่ น้ำเมาตัวกระตุ้น วอนทุกฝ่ายเร่งสร้างทัศนคติเท่าเทียมทางเพศ

เมื่อวันที่ 22ก.ย.60 ที่โรงแรมเอเชีย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปี2559 ภายใต้หัวข้อรณรงค์ “ความรุนแรงฆ่าครอบครัว”

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า งานในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบทบาทของ สสส.และองค์กรภาคีเครือข่าย ที่ต้องการแก้ปัญหาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพเท่านั้น จากข้อมูลงานวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี 53 ต่อความสัมพันธ์ของการเสพสุรากับอาชญากรรม ซึ่งได้สุ่มตัวอย่างจากผู้ต้องขังที่ต้องโทษในคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกายที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำและทัณฑสถานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 แห่ง จำนวน 880 คนพบว่าการดื่มสุรามีความสัมพันธ์กับอาชญากรรม เป็นปัจจัยหลักในการก่อเหตุ โดยกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี มากกว่าครึ่ง 58.8 % ดื่มสุราก่อนก่อเหตุ ในจำนวนนี้76.4 % ก่อเหตุหลังจากดื่มสุราไม่เกิน 5 ชั่วโมง

ขณะเดียวกันข้อมูลของศูนย์วิจัยปัญหาสุราปี 58 ยังระบุชัดว่า 82 % เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราของผู้อื่น เช่น รู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะเพราะการดื่มของคนแปลกหน้า รู้สึกไม่อยากแม้แต่จะมอง หวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนที่ดื่มตามถนน/ในที่สาธารณะ ตื่นกลางดึกเพราะเสียงดังรบกวนจากวงสุรา และเคยถูกคนที่ดื่มพูดจาหยาบคายใส่ นอกจากนี้สุรายังมีผลกระทบจากสุราต่อเด็ก หากคนในครอบครัวที่ดื่มหนัก จะเพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับผลกระทบจากสุรา 3.3 เท่า

นางสาวจรีย์  ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯได้รวบรวมสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รอบ1ปี 2559 จากหนังสือพิมพ์13 ฉบับ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก มติชน แนวหน้า ไทยโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ บ้านเมือง สยามรัฐ พิมพ์ไทย ผู้จัดการรายวัน โพสต์ทูเดย์ พบว่า มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 466 ข่าว ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 86 ข่าว หรือ 18.5 % หากจำแนกความรุนแรง พบว่า 71.8 % สามีกระทำต่อภรรยา 65.2 % คู่รักแบบแฟนโดยฝ่ายชายเป็นผู้กระทำ 35.7 % พ่อกระทำต่อลูก และ 20.8 % พี่น้องกระทำต่อกัน ที่น่าห่วงคือ วิธีการที่สามีลงมือฆ่า เกือบครึ่ง 43.6 % ใช้อาวุธปืนยิง 32.7 % ใช้มีดหรือของมีคม ขณะที่ 23 % เลือกใช้วิธีฆ่าแบบอื่น เช่น ตบตีจนเสียชีวิต เผา ขับรถชน บีบคอ กดหมอน กระบอกไฟฉาย ไม้หน้าสาม พลั่ว ส่วนมูลเหตุที่ทำให้ฆ่า 78.6 % มาจากการหึงหวง ระแวง ฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี สำหรับพื้นที่ก่อเหตุ พบว่า กรุงเทพฯ มากที่สุด และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังพบว่า ผู้ชายจะคิดสั้นฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง คือ ผู้ชาย57.3% ผู้หญิง 30.5 %

“จะเห็นว่าเกือบทุกข่าวมีความเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงทัศนคติที่ปลูกฝังว่าถ้ามีความสัมพันธ์กันแล้ว ฝ่ายหญิงต้องเป็นสมบัติของฝ่ายชาย ขณะเดียวกันการใช้ปืนเพื่อก่อเหตุ ตอกย้ำถึงรูปธรรมการใช้อำนาจที่เหนือกว่า เป็นอาวุธที่ร้ายแรง เป็นอาวุธที่นำไปสู่การเกิดอาชญากรรมมากที่สุด ดังนั้นควรมีการควบคุม แม้จะมีการขึ้นทะเบียน แต่หลายกรณีไม่ได้ถูกควบคุม หาซื้อง่าย และควรบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง รวมทั้งผู้ชายควรมีการปรับทัศนคติไม่ใช้อำนาจเหนือกว่า ตัดคำว่าชายเป็นใหญ่ออกไป รณรงค์ให้เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมทางเพศ และสังคมต้องไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว”  นางสาวจรีย์ กล่าว

นางสาวเอ(นามสมมติ) อายุ33ปี ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากอดีตสามีทำร้าย กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังมีร่องรอยบาดแผลที่ศีรษะ และต้องทำกายภาพบำบัด เข้าออกโรงพยาบาลตลอด เนื่องจากตนเองถูกอดีตสามีพยายามจะใช้มีดฟันศีรษะ แต่ตนเองใช้มือรับมีดแทน จนทำให้มีดฟันเข้าที่เส้นเอ็นจนขาด ทำให้หยิบจับอะไรไม่ได้ มีผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาใช้ชีวิตคู่แบบไม่เคยมีความสุข เขามีพฤติกรรมหึงหวง ไม่ให้เกียรติ พูดจาหยาบคาย รุนแรง ชอบใช้อำนาจ ดื่มเหล้าเสพยา ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกตบตีเป็นประจำ เคยถูกมีดแทงบริเวณท้อง นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่า20 วัน

“กว่า 7 ปี ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน แผลเป็นรอบตัวยังเป็นเครื่องเตือนสติมาตลอด และการให้อภัยยอมเพื่อลูกเพื่อครอบครัวไม่ทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ วันนี้จึงลุกขึ้นมาสู้ปกป้องศักดิ์ศรี จนเขาถูกดำเนินคดีติดคุกในข้อหาทำร้ายร่างกาย  แต่ตัวเองก็ยังอยู่แบบหวาดกลัว ว่าถ้าออกมาเขาจะกลับมาทำร้ายอีก  อยากฝากไว้เป็นบทเรียนให้กับหลายๆครอบครัวว่า การใช้ความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหามีแต่จะซ้ำเติมทำให้ครอบครัวแย่และพังลง ความรุนแรงฆ่าครอบครัวได้จริงๆ” นางสาวเอ (นามสมมติ) กล่าว