posttoday

ส.นักข่าว ตั้งกรรมการหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารสื่อคุกคามทางเพศ

20 กันยายน 2560

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ตั้ง 6 คณะกรรมการ แสวงหาข้อเท็จจริงกรณีผู้บริหารสื่อคุกคามทางเพศ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ตั้ง 6 คณะกรรมการ แสวงหาข้อเท็จจริงกรณีผู้บริหารสื่อคุกคามทางเพศ

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกเเถลงการณ์ กรณีกระเเสข่าวเรื่องผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ โดยระบุเนื้อหาว่า

สืบเนื่องจากกรณีที่มีกระแสข่าวตามสังคมสื่อออนไลน์พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ  รวมทั้งความเคลื่อนไหวเข้าชื่อเรียกร้องให้องค์กรสื่อมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง  จากกลุ่มนักข่าวภาคสนามที่ปรากฏเป็นจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์  อันเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน  ต้องมีความตระหนักด้วยมิติแห่งเพศ  และกระแสสังคม  และยังเกี่ยวพันถึงความน่าเชื่อถือในแวดวงสื่อสารมวลชนโดยรวม  ตามที่มีหนังสือข่าวอ้างถึงผลการหารือนอกรอบ  เมื่อ 10  กันยายน 2560 ที่ผ่านมานั้น

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา  สมาคมนักข่าว ฯ ได้พยายามทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นที่น่าเชื่อถือตามกรอบที่ได้หารือกันไว้  ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังคงเผยแพร่ต่อเนื่องอย่างสับสนเป็นระยะ ๆ  ซึ่งทำให้การทาบทามเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนในที่สุดผู้ได้รับการทาบทามได้ตอบรับมาในจำนวนที่เพียงพอที่จะเริ่มต้นทำงานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงจากกระแสข่าวต่าง ๆ ได้แล้ว

คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าว ฯ จึงอาศัยอำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  พุทธศักราช 2543 (แก้ไขเพิ่มเติม 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557) หมวด 2 วัตถุประสงค์  ข้อ 5 หมวด 4 หน้าที่และสิทธิของสมาชิก  ข้อ 7  และ หมวด 6 การบริหารสมาคม ข้อ 16 ก. และ ค. ประกอบกับแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พุทธศักราช 2558 ว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน อีกทั้งสอดรับกับกระบวนการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชนโดยการให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยกระบวนการที่โปร่งใส จึงมีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีกระแสข่าวพาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อ  เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงให้เกิดความกระจ่างในความเป็นมาเป็นไปของกระแสข่าว  รวมทั้งเกิดความชัดเจนในข้อเท็จจริงของประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล องค์กร ตลอดจนแวดวงสื่อสารมวลชนโดยรวม

โดยคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ฯ ชุดนี้ประกอบด้วย

1. รศ. ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย

2. รศ. ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย

3. ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม

4. น.ส. สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

5. นายนคร ศรีสุโข นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

6. นายทัศนัย  ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายประชาสัมพันธ์ และอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าว ฯ  ยังได้มอบหมายให้นายมงคล  บางประภา อุปนายกฯ ฝ่ายบริหาร และเลขาธิการ เป็นเลขานุการ และ น.ส. สุมนชยา  จึงเจริญศิลป์ กรรมการฝ่ายต่างประเทศ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ  เพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านธุรการ  การจัดทำรายงาน  โดยไม่มีอำนาจร่วมตัดสินใจ  หรือแสดงความคิดเห็นในกระบวนการทำงานของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ฯ ชุดนี้

สำหรับกรอบการทำงานเบื้องต้น   ให้มีกรอบระยะเวลาการทำงานภายใน 90 วัน  โดยมีการเปิดรับข้อมูล  หลักฐานจากบุคคลภายนอกเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 วัน  และแสวงหาข้อเท็จจริงภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ของสมาคมนักข่าวฯ  รวมทั้งอาจเสนอรายงานข้อเสนอแนะต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสมาคมนักข่าวฯ  โดยต้องรักษาความลับของบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะผู้ที่อาจได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรม  และจะไม่มีการแถลง ให้ข่าว หรือให้สัมภาษณ์  จนกว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงจะยุติ  โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาคมนักข่าวฯ เป็นกรณี ๆ ไป

ขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีข้อมูลที่เป็นจริง  ในเหตุการณ์ที่สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับกระแสข่าวดังกล่าว  ไม่ว่าพยานบุคคลหรือหลักฐานในรูปแบบใด ๆ ส่งข้อมูลประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ ภายในเวลา 30 วันนับแต่คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ฯ เริ่มประชุมครั้งแรก

ทั้งนี้สมาคมนักข่าว ฯ ขอให้ทุกฝ่ายรอผล จากคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ฯ  และติดตามข้อแถลงของสมาคมนักข่าวฯ ในโอกาสต่อไป

ส.นักข่าว ตั้งกรรมการหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารสื่อคุกคามทางเพศ

 

ส.นักข่าว ตั้งกรรมการหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารสื่อคุกคามทางเพศ