posttoday

ทส.ถอดใจแม่วงก์ อีเอชไอเอผ่านยาก

06 กันยายน 2560

รมว.ทส.ชี้อีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ผ่านยาก หลังพบเสือโคร่งเพิ่มในพื้นที่ เชื่อรัฐบาลไม่ใช้มาตรา 44 สร้างเขื่อน

รมว.ทส.ชี้อีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ผ่านยาก หลังพบเสือโคร่งเพิ่มในพื้นที่ เชื่อรัฐบาลไม่ใช้มาตรา 44 สร้างเขื่อน

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบประชากรเสือโคร่งในป่าตะวันตกเพิ่มขึ้น ทำให้เชื่อว่ารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของเขื่อนแม่วงก์จะผ่านได้ลำบาก

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงไม่ยอมผลักดันให้ใช้มาตรา 44 เพื่อสร้างเขื่อนแม่วงก์แน่นอน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักอนุรักษ์

"จากนี้ ทส.และกรมอุทยานฯ ต้องทำทุกวิถีทางให้พื้นที่ป่าตะวันตกมีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งให้ได้" พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว

นายกิตติพัฒนธ์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กล่าวว่า พบเสือโคร่งใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว กระจายกันอยู่ทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่จะก่อสร้างเป็นหัวเขื่อนแม่วงก์พบถึง 2 ตัว ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี ทั้งนี้ จากพฤติกรรมเสือโคร่งเกือบทั้งหมดได้ขยายพื้นที่หากินมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งอยู่ในกลุ่มป่าตะวันตกเหมือนกัน 

ด้าน น.ส.รุ้งนภา พูลจำปา นักวิจัยของกองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าวว่า ช่วงประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา มีเสือโคร่งตัวเต็มวัยได้ขยายพื้นที่ออกมายังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 2 ตัว และสามารถขยายพันธุ์เพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 8 ตัว ในจำนวนนี้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ที่ติดเอาไว้ทั่วพื้นที่อุทยานฯ แม่วงก์สามารถบันทึกภาพเสือตัวเต็มวัยเอาไว้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว โดยแต่ละตัวมีพื้นที่หากินประจำอยู่พื้นที่แห่งนี้

นอกจากนี้ ยังพบว่าเสือโคร่งไม่ต่ำกว่า 2 ตัว ที่มีลูกอ่อน แต่ในหลักการของการวิจัยยังไม่สามารถนับลูกอ่อนเหล่านี้ได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าแม่เสือจะสามารถเลี้ยงลูกได้รอด หรือไม่ อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกได้ทำรายงานส่งไปยังสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนแล้ว

"ประเทศไทยมีความหวังสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนที่สามารถเพิ่มจำนวนเสือโคร่งในป่าให้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้คือ 50% ของจำนวนที่มีอยู่ภายในปี 2565 ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยมีเสือจำนวน 250-300 ตัวแล้ว" น.ส.รุ้งนภา กล่าว