posttoday

เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังร้องสปสช.หวั่นยาขาดปลายปี 60

30 สิงหาคม 2560

เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังยื่นหนังสือต่อ สปสช. หวั่นเปลี่ยนหน่วยงานจัดซื้อยารวมทำ ยาขาดแคลน เลขาธิการ สปสช.ยันไม่ขาดแน่นอน

เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังยื่นหนังสือต่อ สปสช. หวั่นเปลี่ยนหน่วยงานจัดซื้อยารวมทำ ยาขาดแคลน เลขาธิการ สปสช.ยันไม่ขาดแน่นอน

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง (ชมรมเพื่อนโรคไตและเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ) เดินทางไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อยื่นหนังสือต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รมว.สาธารณสุข และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. สืบเนื่องจากกรณีที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงว่า สปสช. ไม่สามารถจัดซื้อยาได้เพราะขัดต่อข้อกฎหมาย จึงมีการมอบอำนาจแก่ รพ.ราชวิถี เป็นตัวแทนในการจัดซื้อยารวมแทน รพ.ทั่วประเทศ ทางเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังจึงเกิดข้อกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ขาดยาสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังในช่วงปลายงบประมาณปี 2560 คือ ช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นปี 2561 เพราะเป็นช่วงส่งไม้ต่อระหว่าง สปสช. กับ รพ.ราชวิถี จึงต้องการความชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะได้รับการบริการยาอย่างต่อเนื่อง

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังเกิดความวิตกกังวลด้านการจัดซื้อและการแจกจ่ายยาเพื่อให้เข้าถึงประชาชน จากเดิมที่ สปสช. เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้มานับ 10 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังเปลี่ยนเป็น รพ.ราชวิถี เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยก่อนหน้าที่จะมา สปสช. ทางเครือข่ายได้ยื่นเรื่องไปที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาก่อนแล้วแต่ยังมีท่าทีนิ่งเฉยจึงทำเรื่องส่งมายัง สปสช. เพื่อหวังว่าจะได้รับความชัดเจนในที่สุด โดยตนเองและทางเครือข่ายมองถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการส่งไม้ต่อระหว่างสองหน่วยงาน หากเกิดเหตุการณ์ขาดยาชั่วขณะจะก่อให้เกิดผลเสียกับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

“ถ้าเกิดยาขาดใครจะรับผิดชอบกับชีวิตของคนป่วย อย่างเช่น ผู้ป่วยเอชไอวีจะต้องกินยาต้านตลอดชีวิต หากไม่ได้รับยาก็จะทำให้สุขภาพพวกเขาแย่ลง ส่วนในกรณีของผู้ป่วยไตวายจะต้องล้างช่องทางวันละ 4 ครั้ง หากขาดน้ำยาล้าง ก็จะเกิดภาวะของเสียคลั่ง เกิดน้ำท่วมปอด ก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉิน ซึ่งคนป่วยไตวายในประเทศมีราวๆ 25,000 คน ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาว่าหน่วยบริการจะรับไหวหรือไม่ ประชาชนเพียงต้องการความชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจและอยากให้หน่วยงานที่จะดำเนินการซื้อยาออกมารับประกันว่าเป็นหน่วยงานนั้นแน่นอน”

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ออกมาชี้แจ้งว่า สปสช.จะยังดำเนินการจัดซื้อยารวมไปจนถึงจบงบประมาณปี 2560 ฉะนั้นให้ความมั่นใจได้ว่าจะมียารองรับและบริการผู้ป่วยแน่นอน นอกจากนี้ในเรื่องของเกณฑ์ราคาและระบบการบริหารจัดการ ยังคงเป็นเหมือนเดิมไม่มีการปรับเปลี่ยนเพียงแต่อำนาจการบริหารไปอยู่ที่ รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็น หน่วยบริการตัวแทนที่ สตง. เป็นผู้เสนอชื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แทน สปสช. นพ.ศักดิ์ชัย ยังกล่าวเพิ่มเติม แต่หากเป็นเรื่องกฎหมายนั้นตนเองไม่มีอำนาจในการชี้ข้อกฎหมายใดๆ

“กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรหลากความสามารถซึ่ง รพ.ราชวิถี ก็อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการแพทย์ ซึ่งขณะนี้ รพ.ราชวิถี ก็เริ่มมีการเตรียมการสำหรับการทำหน้าที่นี้ โดยทาง สปสช. ก็มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยสอนเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้ระบบการจัดการแบบเดิมทั้งหมด ไม่เป็นปัญหาอย่างแน่นอน มั่นใจได้”