posttoday

ศอ.บต. ดึงองค์กรประชาสังคมร่วมแก้ปัญหาชายแดนใต้

25 สิงหาคม 2560

เลขาฯ ศอ.บต.เชื่อ ดึงองค์กรประชาสังคมร่วมแก้ปัญหาปัญหาชายแดนภาคใต้ หนุนการพูดคุยสันติภาพ

เลขาฯ ศอ.บต.เชื่อ ดึงองค์กรประชาสังคมร่วมแก้ปัญหาปัญหาชายแดนภาคใต้  หนุนการพูดคุยสันติภาพ

นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)เปิดเผยว่า โครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้  จะเป็นกำลังหลักในการเสริมบทบาทของภาครัฐขับเคลื่อน เชื่อมโยงเรื่องความคิด ความเชื่อว่า ประชาชนในพื้นที่รักสันติสุขไม่ต้องการความรุนแรงและจะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลกับกลุ่มมาราปัตตานี 

เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกว่า 400 องค์กร ซึ่งส่วนหนึ่งช่วยเหลือรัฐอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนหนึ่งอาจอยู่กลางๆ และอีกส่วนหนึ่งอาจมีความคิดต่างบ้าง แต่ยืนยันว่า องค์กรเหล่านี้เป็นภาคส่วนที่สำคัญในการแก้ปัญหา เพราะเป็นองค์กรที่มาจากภาคประชาชน รู้ปัญหาพื้นที่อย่างแท้จริง

“การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ขณะนี้ต้องอาศัยคนเหล่านี้ ซึ่ง ศอ.บต.ได้รับความร่วมมืออย่างดี จากคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.)  นำโดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ประธานคณะผู้แทนฯ และ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษฯซึ่งรับผิดชอบ ภารกิจที่ 7 คือแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี  ที่ริเริ่มเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรประชาสังคมเข้มแข็งโดยให้ ศอ.บต.เป็นผู้ขับเคลื่อน สนับสนุนเบื้องต้น 50 ล้านบาท เพื่อให้มีการทำงานที่เข้มแข็ง และเป็นกำลังหลักในการเสริมแนวทางแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้”เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ภารกิจในภาพรวมของ ศอ.บต.ได้รับความเชื่อศรัทธาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการศึกษา ให้ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องของทุนและการสร้างอาชีพ การแก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด ซึ่งออกโฉนดที่ดินไปแล้วสองหมื่นถึงสามหมื่นแปลง การสนับสนุนด้านการศาสนา ส่งเสริมคนดีให้ได้ไปประกอบพิธีฮัจน์ที่เมกกะและกลับมาสร้างความดีต่อเนื่อง การแก้ปัญหายาเสพติดโดย สร้างบุคคลต้นแบบเพื่อขยายผลในการเลิกเสพยา การสร้างเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน โดยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา ให้เป็นเมืองต้นแบบที่มีการพัฒนาในลักษณะพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะ ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนที่สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น  ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนสนใจจะมาลงทุนตั้งโรงงานมะพร้าว โรงงานปาล์ม และกิจการขนส่งทางทะเล