posttoday

ชี้กม.กลายเป็นเสือกระดาษ กำราบปัญหาคุกคามทางเพศไม่ได้

24 สิงหาคม 2560

ทิชา ณ นคร ชี้ กฎหมายกลายเป็นเสือกระดาษ แก้ปัญหาคุกคามทางเพศไม่ได้ เหตุจากระบบอุปถัมภ์ในหน่วยงาน แนะทางออกเพิ่มคนนอกร่วมไต่สวน

ทิชา ณ นคร ชี้ กฎหมายกลายเป็นเสือกระดาษ แก้ปัญหาคุกคามทางเพศไม่ได้ เหตุจากระบบอุปถัมภ์ในหน่วยงาน แนะทางออกเพิ่มคนนอกร่วมไต่สวน

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่โรงแรมเอบีน่าส์เฮ้าส์ ในเวทีเสวนา “คุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว: รัฐกับการคุ้มครองผู้เสียหายและอำนวยความยุติธรรม” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ภายในงานได้มีการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” โดยผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเอง

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศ ทั้งกฎหมายอาญา มาตรา 278 ที่ระบุว่าผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 285 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็มีกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการยับยั้งการคุกคามทางเพศ

"แต่สถานการณ์การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น กฎหมายกลับเป็นเพียงเสือกระดาษ ซึ่งมีสาเหตุจากสภาพสังคมไทย4 ประการ คือ1. มีระบบอุปถัมภ์ที่ไม่เคยตาย เหมือนแมลงสาบอายุยืน สกปรกแค่ไหนก็อยู่ได้ 2.ระบบอำนาจนิยมที่แข็งแรง 3.สังคมไทยยังมองผู้เสียหายอย่างมีอคติ คือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็มองว่าผู้เสียหายยินยอมหรือให้ท่า ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าเผยตัวหรือเรียกร้องสิทธิความปลอดภัยให้กับตนเอง 4.กระบวนการเอาผิดผู้กระทำภายใต้ระบบราชการมีความยุ่งยากซับซ้อน การสอบสวนมักใช้เวลานาน และยิ่งมีระบบอุปถัมภ์ซ้อนอยู่ ผู้กระทำผิดจึงไม่เกรงกลัวอะไร โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการที่คุกคามได้กระทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด3 ปี จะไม่มีใครรู้เห็นพฤติกรรมเหล่านั้นเลยหรือ หรือรู้เห็นแต่ไม่ทำอะไร  เพราะเขารับใช้นายเก่งหรือ ซึ่งฉากจบของการไต่สวนเคสทำนองนี้มักจะออกมาว่าคนผิดไม่มีวันตายในระบบราชการ ไม่สามารถดำเนินการหรือมีมาตรการลงโทษเขาได้"นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวด้วยว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าว คือ ทุกครั้งที่เกิดกรณีแบบนี้ ควรให้มีคนนอกที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น นักวิชาการด้านสิทธิ หรือบุคคลที่ทำงานและมีความเชี่ยวชาญเรื่องปัญหาการคุกคามทางเพศ เข้าร่วมไต่สวนหาข้อเท็จจริงด้วย เพื่อสร้างดุลยภาพในการไต่สวน ทำให้มีการเอาผิดอย่างจริงจัง และไม่ถือว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซง

นางสาวธารารัตน์ ปัญญา หนึ่งในผู้เสียหายที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กรณีที่ถูกรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยล่วงละเมิดทางเพศ จนทำให้ผู้ก่อเหตุถูกลงโทษ กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นประโยชน์ของการนิ่งเงียบ เมื่อเจอปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นมันไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย ในกรณีของตนเอง ถึงแม้ว่าจะโดนกระแสสังคมต่อว่า แต่ก็ตัดสินใจออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น

“ตอนที่เจอเหตุการณ์ รู้สึกช็อค สังคมหรือคนรอบข้างก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงไม่กรีดร้อง หรือไม่ทำอะไรตอนนั้น ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเรายินยอม ซึ่งมันมีทั้งคนเข้าใจและไม่เข้าใจ อยากถามว่า คนที่คิดว่าคนถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องมีการแสดงท่าทีขัดขืน โวยวาย พวกเขาดูละครมากไปหรือเปล่า เพราะเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศมันมักเกิดจากคนใกล้ตัวเรามากกว่าคนแปลกหน้า และในช่วงเวลาแบบนั้น เราต้องชั่งใจมากว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้ การที่คนที่ถูกละเมิดหรือคุกคามทางเพศจะออกมาพูดหรือไม่พูด เราเคารพในการตัดสินใจของแต่ละคนอยู่แล้ว แต่สำหรับตัวเองคิดว่า การเงียบไม่มีประโยชน์ ตัวเองจะไม่ปิดบังสิ่งที่เจอมา และจะใช้ชีวิตปกติต่อไป”นางสาวธารารัตน์ กล่าว

นางยงค์ ฉิมพลี กรรมการสหภาพแรงงานฯ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวถึงประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถเมล์สาธารณะว่า คาดว่าจำนวนของการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะน่าจะลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต  อาจเพราะจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์น้อยลง คนไม่แออัดยัดเยียดเหมือนในอดีต แต่ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะที่เกิดกับผู้โดยสารผู้หญิง

“การคุกคามมีหลากหลายรูปแบบ ผู้ถูกกระทำมีทั้งที่เป็นพนักงานและผู้โดยสาร ในกรณีที่เราปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรถเมล์ และมีผู้โดยสารถูกคุกคาม เราจะเข้าไปช่วยเหลือ อาจโดยการส่งเสียงดัง หรือเข้าไปซักถาม ซึ่งพนักงานบนรถจะต้องสังเกตพฤติกรรมของผู้โดยสารบนรถ ส่วนคนที่ถูกคุกคามทางเพศก็ไม่ควรนิ่งเฉย ควรใช้เสียงเพื่อหยุดพฤติกรรม หรือใช้มือถือถ่ายคลิปบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน”นางยงค์ กล่าว