posttoday

‘ดริ๊งเซฟ’ แอพ ‘เช็กเมา’ ฝีมือเด็กไทย

05 สิงหาคม 2560

ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

โดย...วรธาร

 ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

 สาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ เห็นได้จากตัวเลขการเมาแล้วขับพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่ 2560 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวสูงถึง 4,128 และ 478 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา 17.7% และ 25.7% ตามลำดับ (ที่มา : ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน)

 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และต้องการช่วยภาครัฐลดสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากกรณีดังกล่าว จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า “ดริ๊งเซฟ” (Drink Safe)

 โดยเป็นผลงานของ ธรณัส กฤตยานวัช กับ สิรวุฒิ วิรัตนพรกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ.

‘ดริ๊งเซฟ’ แอพ ‘เช็กเมา’ ฝีมือเด็กไทย

 สองนักศึกษาเจ้าของผลงานให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Drink Safe ว่าเป็นแอพพลิเคชั่นวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ที่มาพร้อมกับเซ็นเซอร์ชนิดพกพาที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เพื่อแยกแยะความสามารถการขับขี่ใน 2 ระดับ คือ ขับรถได้ (ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) และห้ามขับรถ (เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ได้อย่างแม่นยำ

 นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกขอความช่วยเหลือเพื่อหลีกเลี่ยงการขับขี่ได้ใน 2 ช่องทาง คือ ติดต่อเพื่อนและเรียกแท็กซี่

 ขณะที่ ผศ.ดร.ทรงศักดิ์ รองวิริยะพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบัน “ดริ๊งเซฟ” ได้พัฒนาสำเร็จและสามารถตรวจแยกแยะระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ระดับต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ได้แม่นยำ โดยได้ทำการทดลองเทียบกับเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของตำรวจ พร้อมแสดงผลได้ในทันที (เรียลไทม์)

‘ดริ๊งเซฟ’ แอพ ‘เช็กเมา’ ฝีมือเด็กไทย

 ผศ.ดร.ทรงศักดิ์ ให้ข้อมูลต่อว่า แอพพลิเคชั่นดริ๊งเซฟเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เสริมที่เป็นเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดแอลกอฮอล์ เชื่อมต่อกับระบบประมวลผล Arduino ผู้ใช้งานสามารถทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ใน 1 ขั้นตอน

 เพียงเป่าลมหายใจเป็นเวลา 5 วินาทีเข้าไปที่เครื่องวัดแอลกอฮอล์ที่มีการเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟน จากนั้นระบบจะทำการประมวลผลใน 2 นาที ว่าตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ที่เกินมาตรฐานกฎหมายกำหนดหรือไม่ (โดยต้องไม่เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)

 ซึ่งในขณะเดียวกันแอพยังคำนวณอัตราการลดระดับของแอลกอฮอล์ในทุกๆ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ใช้ทราบถึงระยะเวลาที่ตนจะสร่างเมาและสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย

 “ยกตัวอย่างเช่น หากเป่าลมหายใจแล้วมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 62 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในเวลา 02.52 น. จะพร้อมขับขี่ได้ในเวลา 06.52 น. เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากในกรณีที่แอพประเมินแล้วว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกำหนด จะทำการแสดงฟังก์ชั่นในการเลี่ยงการขับขี่แก่ผู้ใช้งานใน 2 ทางเลือก คือ 1.ติดต่อเพื่อน โดยแอพจะทำหน้าที่เชื่อมกับสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก พร้อมทั้งแสดงรายชื่อเพื่อนที่มีประวัติการใช้งานแอพ และมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และ 2.เรียกแท็กซี่ เพื่อใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะ”

 อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวต่อว่า ดริ๊งเซฟใช้ระยะเวลาในการพัฒนาร่วม 4-5 เดือน และมีต้นทุนในการพัฒนาอยู่ที่ 2,000 บาท โดยเวลาการพัฒนาส่วนใหญ่ใช้ในการทดลองเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าดิจิทัลที่อ่านได้จากเซ็นเซอร์วัดระดับแอลกอฮอล์กับค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพื่อให้เกิดความแม่นยำ ซึ่งเป็นจุดเด่นของงานคือการใช้เซ็นเซอร์ที่มีราคาไม่สูง แต่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในการทดลอง เพื่อหาโมเดลความสัมพันธ์ระหว่างค่าดิจิทัลอ่านจากเซ็นเซอร์กับระดับแอลกอฮอล์ในเลือด

‘ดริ๊งเซฟ’ แอพ ‘เช็กเมา’ ฝีมือเด็กไทย