posttoday

รัฐบาลน้อมนำรับสั่งร.10ช่วยผู้ประสบอุทกภัยคลี่คลายแล้ว34จังหวัด

04 สิงหาคม 2560

นายกอัญเชิญพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใส่เกล้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเผยสถานการณ์คลี่คลายแล้ว34จังหวัดเหลืออีก10จังหวัดที่ต้องเร่งแก้ไข

นายกอัญเชิญพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใส่เกล้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเผยสถานการณ์คลี่คลายแล้ว34จังหวัดเหลืออีก10จังหวัดที่ต้องเร่งแก้ไข

เมื่อวันที่ 4 ส.ค.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า สถานการณ์อุทกภัย จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “ตาลัส” และ “เซินกา”เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 44 จังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า3 แสน 7 หมื่นครัวเรือน หรือราว 1 ล้าน 2 แสนคน ปัจจุบัน สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว 34 จังหวัด คงเหลือ10 จังหวัด ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการ “เราทำความดีด้วยหัวใจ หน่วยพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา” ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเป็นการด่วน ณ พื้นที่ประสบภัย ทรงเน้นเรื่องการนำโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสู่การปฏิบัติให้สมบูรณ์ในทุกพื้นที่

รัฐบาลได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งฯ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยภาคใต้ ที่ผ่านมานับเป็น “ศาสตร์พระราชา” ใส่เกล้าใส่กระหม่อม เพื่อเป็นแนวทางพระราชทาน สำหรับดำเนินการอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ด้วย เรื่องที่ (1) ก็คือการกระจายความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและทันกาล (2) ดำเนินการอย่างเป็นระบบ และมีการบูรณาการกัน ของทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน และ (3) คือ “เตรียมพร้อม” ให้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์, มีระบบการแจ้งเตือนภัย “ล่วงหน้า” และมี “แผนเชิญเหตุ” ที่สมบูรณ์ในทุกสถานการณ์ รวมทั้งให้มี “แผนการฟื้นฟู” หลังวิกฤติการณ์นั้นๆ อีกด้วย

"นับตั้งแต่วันนี้ อีก 3 เดือน ก็จะสิ้นสุดฤดูฝน ดังนั้นการระบายน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้องเก็บกักน้ำไว้เพิ่มเติม ราว 5,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอ สำหรับอุปโภคบริโภค ในภาคการผลิต และรักษาระบบนิเวศ ตามประมาณการความต้องการใช้น้ำ ในปีหน้านะครับ 2561 ก็คือ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วย ภูมิภาคอื่นๆ ก็เช่นกันไม่ใช่เห็นน้ำมากก็ผลัก ดันน้ำทิ้งจนหมด ระบายจนหมด ไม่คำนึงถึงการใช้น้ำในอนาคตต้องระมัดระวังไปอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ “ในแต่ละพื้นที่”อีกด้วย