posttoday

ภูมิศาสตร์ชาตินิยม กับการตามล่าหิมะบนภูเบี้ย

30 กรกฎาคม 2560

ในตอนท้ายๆ ของหนังสือ Surveying and exploring in Siam ของพระวิภาคภูวดล (James F. McCarthy)

โดย..กรกิจ ดิษฐาน

ในตอนท้ายๆ ของหนังสือ Surveying and exploring in Siam ของพระวิภาคภูวดล (James F. McCarthy) คุณพระชาวบริติช ท่านเล่าถึงการสำรวจภูเขาที่สูงที่สุดในอินโดจีน คือภูเบี้ย ในประเทศลาว ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของสยาม

ที่ขึ้นไปก็เพื่อที่จะรังวัดทำแผนที่ประเทศสยามและแว่นแคว้นใกล้เคียง อย่างที่บางคนบอกว่าเป็นการสร้างประเทศสยามจากการทำแผนที่ แต่บางคนเขาคิดไม่ได้คิดวกวน ก็เห็นว่าเป็นเพียงการกำหนดดินแดนเพื่อป้องกันชาติฝรั่งมาเขมือบแผ่นดินของเรา

ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองผ่านกรอบไหน หรือใช้ Discourse แบบไหน

การขึ้นไปภูเบี้ยเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นพอสมควร เพราะยอดล้อมด้วยเขาหินปูนแหลม มีผาสูงชันแทบไต่ขึ้นไม่ได้ ปกคลุมด้วยป่าหนาทึบ

วันที่คณะของคุณพระเริ่มการเดินทางที่เชียงขวาง อุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส มีน้ำค้างแข็งเกาะตามพื้นดิน เมื่อถึงตีนภู ก็จ้างชาวม้งนำทางขึ้นไปช่วงเช้าตรู่ พื้นดินมีน้ำแข็งเกาะ แอ่งน้ำบนเขาแข็งเป็นแผ่นประมาณ 1 ใน 4 นิ้ว พวกเด็กลูกหาบชาวกัมมุสนุกสนานกันใหญ่ พากันแกะน้ำแข็งมาแทะเล่น

เมื่อถึงยอดภูเบี้ย เป็นหินชนวนสลับกับหินปูน ต้นไม้บนยอดมีขนาดเล็กมาก พื้นปกคลุมด้วยมอสหนา ด้านทิศเหนือเป็นผาหินปูนสูง ปีนขึ้นมาไม่ได้

คืนวันที่ 20 ธ.ค. 1892 อุณหภูมิลดลงเหลือ -2 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็งหนาประมาณ 1 ใน 4 นิ้ว ในคืนต่อๆ มาจนถึงวันที่ 23 ธ.ค. มีลมแรง และเกิดน้ำแข็งอีก เมื่อตั้งเสารังวัดแล้วก็กลับลงมา ด้วยความยินดีปรีดา เพราะว่าหมดทรมานเสียที

พระวิภาคภูวดลบันทึกเรื่องน้ำแข็งบนภูเบี้ยไว้เท่านี้ แล้วตั้งข้อสังเกตว่า ภูเบี้ยเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแหลมมลายูและอินโดจีน (2,820 เมตร) ซึ่งในภายหลังเราทราบว่าที่เวียดนามยังมียอดเขาที่สูงกว่า คือ ฟานซีปัง ซึ่งมีหิมะแน่นอนตอนหน้าหนาว

แต่ผมว่าภูเบี้ยเป็นความน่าอัศจรรย์ทางธรรมชาติมากกว่า ภูเขาฟานซีปัง (รวมถึงพงสาลีของลาว) อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น ซึ่งเป็นอากาศแบบจีนตอนใต้ ไม่แปลกที่จะมีหิมะ แต่ภูเบี้ยอยู่ในภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งร้อนเป็นหลัก หากจะมีหิมะหรือน้ำแข็งบนยอด ก็นับว่าเป็นของขวัญอันพิเศษสุด สำหรับคนขี้ร้อนที่แสวงหาความหนาวแถวๆ นี้

ส่วนยอดเขาในเมียนมาเป็นเขตหิมาลัยแล้ว ดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แถมยังเที่ยวจากฝั่งจีนง่ายกว่าด้วย

นอกจากบันทึกของพระวิภาคภูวดล ยังมีบันทึกอื่นๆ เล่าว่า เมื่อศตวรรษที่แล้ว ภูเบี้ยมีหิมะปกคลุมในบางครั้ง (บางแห่งก็ว่าคลุมตลอด) แต่ในศตวรรษนี้ไม่มีแล้ว คงเพราะปัญหาโลกร้อนเป็นเหตุ บางแหล่งข้อมูลอ้างว่า ทุกวันนี้อุณหภูมิเฉลี่ยบนยอดภูเบี้ยประมาณ -5 องศา แต่เรื่องนี้ผมยังสงสัย เพราะเดือน ธ.ค.เมื่อ 100 กว่าปีก่อน แค่ -2

ภูเบี้ยเป็นเขตหวงห้ามหลายสิบปีแล้ว เพราะความขัดแย้งช่วงสงครามเย็น เคยได้ยินว่ายังมีม้งบางกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่แต่ไม่รู้ว่าตอนนี้ยังมีกบดานอยู่หรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีกับระเบิดอีกเพียบ ซึ่งยากที่จะเก็บกู้ แล้วยังได้ข่าวว่าทางการลาวพยายามศึกษาเรื่องภูเบี้ย เพราะข้อมูลกระท่อนกระแท่นเหลือเกิน

ภูมิศาสตร์ชาตินิยม กับการตามล่าหิมะบนภูเบี้ย

ตอนนี้โอกาสที่จะสำรวจภูเบี้ย น่าจะเท่ากับศูนย์

อย่าว่าแต่ภูเบี้ยเลยครับ แม้แต่เหมืองทองโดยรอบภูเบี้ย และโครงการจะเปลี่ยนภูเบี้ยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจะเปิดรับคนนอกเข้าไปจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะอาณาบริเวณนั้นเปราะบางพอสมควร

ภูเบี้ยจึงเป็นอีกหนึ่งดินแดนสนธยาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ และในแง่รัฐศาสตร์

อนึ่ง ผมยังมีของฝากนักอ่าน จากหนังสือ Surveying and exploring in Siam ของพระวิภาคภูวดลเป็นแผนที่ประเทศสยาม ในแบบมณฑลเทศาภิบาล อันเป็นระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นกึ่งรวมศูนย์ เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความรัฐชาติ (Nation state) เพื่อยุติความหละหลวมของระบอบจตุสดมภ์ และป้องกันรัฐชาติที่แข็งแกร่งจากตะวันตกมากลืนกินแผ่นดิน โดยอ้างว่า นี่เป็นแผ่นดินที่ขึ้นกับกรุงเทพฯ แบบหลวมๆ ไม่ใช่ของรัฐบาลกรุงเทพฯ แบบ 100%

นี่เองเป็นเหตุให้เกิดการปกครองแบบใหม่ และการเร่งทำแผนที่แบบตะวันตก โดยคุณพระฝรั่ง

ปกติแล้วเราคงไม่ค่อยได้เห็นแผนที่มณฑลเทศาภิบาลกันเท่าไร เพราะหาดูได้ยาก แต่ในโลกดิจิทัลอะไรก็เป็นไปได้ แม้ว่าในไทยจะไม่มีให้ดูกันง่ายๆ แต่ที่อื่นๆ เช่น Staatliche Museen zu Berlin ใช่ว่าจะไม่มี ในเมื่อเจอแล้ว ผมเลยครอปภาพมาให้ดู

การเรียกชื่อมณฑลนี้อาจจะไม่คุ้นกันนัก เพราะเป็นการจัดการปกครองยุคแรก และเรียกตามสภาพภูมิศาสตร์แบบไทยๆ เช่น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึงล้านนา มณฑลพิษณุโลกยังกินพื้นที่ถึงไชยบุรีของลาวทุกวันนี้ เมืองไชยบุรีนี้พระวิภาคภูวดลไปเจอ “ภูเขาไฟ” เข้า แต่ทุกวันนี้เราทราบว่ามันคือแหล่งถ่านหินนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีมณฑลเขมร คือเมืองพระตะบอง เสียมราฐ (แน่นอนว่านครวัด นครธมอยู่ในนั้นด้วย) ยังมีมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือกินพื้นที่จากฝั่งตรงข้ามเมืองสตึงแตรง จนถึงเมืองมุกดาหาร ส่วนมณฑลอุดรตอนนั้นเรียกมณฑลเหนือ มณฑลตะวันตก หมายถึงระนองจนถึงเมืองไทรบุรี ตรงข้ามมณฑลตะวันตกคือมณฑลนครศรีธรรมราช ล่างไปคือมณฑลมลายู

ปัจจุบันเราไม่ได้ปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลอีกต่อไป และหลายส่วนของดินแดนกลายเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังรักกันปานจะกลืนกินไม่ลงสักที