posttoday

ค้านซื้อบ้านพ่วงประกัน

29 กรกฎาคม 2560

ภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการทำประกันบ้านให้กับผู้บริโภค

ภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการทำประกันบ้านให้กับผู้บริโภค ชี้ซ้ำซ้อนกับสัญญามาตรฐาน เอื้อธุรกิจประกัน สุดท้ายภาระตกกับผู้บริโภค แนะใช้เอสโครว์ป้องกันความเสี่ยงแทน

อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด สคบ.ที่เตรียมออกระเบียบบังคับให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ทุกโครงการจะต้องทำการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยให้กับลูกค้าทุกหลังในโครงการ เนื่องจากการพัฒนาโครงการบ้านทุกหลังอยู่ในสัญญามาตรฐานอยู่แล้ว ว่ามีการรับประกันงานโครงสร้างอยู่แล้ว และการจ่ายเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นนั้นภาระจะไม่ได้อยู่กับผู้ประกอบการ เพราะผู้บริโภคก็จะต้องรับไปในที่สุด

“แนวคิดเรื่องนี้เอื้อกับบริษัทประกันเป็นอย่างมาก เพราะการที่จะเคลมค่าเสียหายจากการที่บ้านมีปัญหานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะจะต้องมีการฟ้องศาล กว่าที่บริษัทประกันแต่ละรายจะยอมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งมีกระบวนการในชั้นศาลค่อนข้างมาก ไม่ใช่ว่าเคลมแล้วจะแก้ปัญหาได้ หรือหากผู้บริโภคมีความกังวัลใจปัญหาเรื่องซื้อบ้านก็มีกฎหมายการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาหรือเอสโครว์รองรับอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาคนไทยยังไม่เห็นความสำคัญกับการใช้กฎหมายเอสโครว์” อธิป กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่แปลกมากที่จะมีการผลักดันให้เกิดขึ้น ในต่างประเทศยังไม่มีประเทศไหนทำเลย มีแต่ทำในรูปแบบประกัน มอร์เกจ อินชัวรันส์ คือ ให้ผู้กู้ซื้อบ้านจะต้องซื้อมอร์เกจ อินชัวรันส์ด้วย เนื่องจากกลัวเรื่องปัญหาหนี้เสีย และเพื่อความเทียมเท่ากัน ธุรกิจอื่นที่จะต้องมอบสินค้าก็จะต้องทำประกันด้วยเช่นกัน แนวคิดดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจประกันกลายเป็นเสือนอนกิน

อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดาพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า การที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาฯ ทุกโครงการต้องซื้อกรมธรรม์ ประกันภัยให้กับลูกค้านั้น ก่อนอื่นต้องมีความชัดเจนก่อนว่าเป็นการคุ้มครองประเภทไหน เช่น โครงการสร้าง หรืออุปกรณ์ เพราะปัจจุบันก็มีการทำประกันภัยเกี่ยวกับโครงสร้างอาคาร ซึ่งรับประกัน 5 ปีตามสัญญามาตรฐานอยู่แล้ว หรือกรณีที่การป้องกันอัคคีภัยก็ทำกับธนาคารอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี เห็นว่า หากเป็นเรื่องของการชำรุด เรื่องของโครงสร้างซึ่งมีวิศวกรดูแล ค่าประกันไม่แพง ถือว่าเป็นบริการหลังการขาย ผู้ประกอบการก็ยินดีหากจะช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับผู้บริโภค ก็เหมือนเราซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการรับประกัน 1 ปี แต่ยังต้องการความคุ้มครองเพิ่มก็ต้องจ่ายเพิ่ม และไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรมธรรม์ ประกันภัย หรือการตั้งกองทุนเยียวยา รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องมีความชัดเจนก่อน และสุดท้ายภาระค่าใช้จ่ายก็ตกที่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ การประชุมของ สคบ.ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาข้อร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการอสังหาฯ โดยเฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัย โดยเห็นชอบในหลักการเตรียมออกมาตรการแก้ปัญหา กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาฯ ซึ่งมีกลยุทธ์ด้านมาตรการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจอสังหาฯ พร้อมออกกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบูรณาการเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาฯ ซึ่งมีกลยุทธ์ 2 มาตรการย่อย คือ ออกมาตรการกำหนดตัวชี้วัด (บังคับ) ของหน่วยงานที่มีภาระเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจด้านอสังหาฯ และมาตรการที่เกี่ยวกับเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาด้านอสังหาฯ

นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดทำคู่มือให้ความรู้แก่ผู้บริโภคโดยที่ประชุมมอบหมายให้ สคบ.รวบรวมข้อมูลและปัญหาเกี่ยวกับอสังหาฯ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้บริโภค โดยนำไปวางไว้ที่สำนักงานที่ดิน สำนักงานเขต และสื่อออนไลน์ รวมทั้งในเว็บไซต์ของ สคบ.ด้วย พร้อมทั้งให้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาฯ อย่างเข้มงวด