posttoday

ซาเล้งเก็บขยะหน่วยจุลภาค เพื่อการเก็บแยกขยะอย่างยั่งยืน

23 กรกฎาคม 2560

มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะมีการจับมือเดินหน้าสานต่อไปให้คืบเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอย่างไร?

โดย...พริบพันดาว

มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะมีการจับมือเดินหน้าสานต่อไปให้คืบเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอย่างไร? ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสรรค์เมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครให้น่าอยู่มากขึ้น และสามารถเป็นเมืองต้นแบบในการแยกและกำจัดขยะอย่างสร้างสรรค์ในแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 4.0 แบบไทยๆ

 มีความหวังอยู่ข้างในอย่างลึกๆ ว่า น่าจะมีการต่อยอดรวบรวมและเชื่อมเครือข่ายบรรดารถซาเล้งเก็บขยะและของเก่าให้มารวมเป็นก้อนเดียวกัน และกระจายออกไปในเขตรับผิดชอบที่ตัวเองเชี่ยวชาญ

โครงการ “REAL RECYCLER รักษ์โลกจริง เลิกทิ้ง เลิกเท” ที่นำร่องกระตุ้นเตือนสังคมให้ตื่นตัวกับปัญหาขยะ และหวังปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงการรีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

 ซาเล้งทั้ง 12 คัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดแยกขยะ และหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่มีส่วนช่วยประเทศไทยในการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจผู้ประกอบอาชีพซาเล้งมากขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของเอ็ม บี เค กรุ๊ป กับกรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ขยะในประเทศไทยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการคัดแยกและรีไซเคิลผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยศูนย์วัสดุรีไซเคิลชุมชน ธนาคารขยะรีไซเคิล ขายให้ผู้รับซื้อของเก่าหรือซาเล้ง และร้านรับซื้อของเก่า จากกรณีนี้ แสดงให้เห็นว่า “กลุ่มผู้รับซื้อของเก่า” เป็นกลุ่มอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการคัดแยกขยะของประเทศไทยตั้งแต่ต้นทางและนำขยะกลับเข้ามาสู่ระบบรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ทั้งนี้ ขยะส่วนใหญ่ของประเทศมาจากขยะในชุมชนเมือง เพราะคนในเมืองทิ้งขยะกันวันละเกือบ 2 กิโลกรัม/คน

สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ระบุว่า งบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการกำจัดขยะ และได้มีการคำนวณไว้ว่า ขยะทุกๆ 1 กิโลกรัม จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ 2 บาท ซึ่งประมาณการแล้ว เท่ากับว่ามีการใช้งบประมาณการกำจัดขยะถึงปีละ 6,000 ล้านบาท/ปี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะทั้งหมดไปมากมายโดยไม่มีการพัฒนากระบวนการการเก็บกำจัดและรีไซเคิลให้มีมาตรฐานระดับโลกอย่างที่ควรจะเป็นและพัฒนาไปถึง

 ด้วยความที่ขยะมีปริมาณมากมายมหาศาลในเขตกรุงเทพมหานคร และรถขยะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากกำลังคนและงบประมาณที่ถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนัก การที่ได้เห็นซาเล้งทั้ง 12 คัน ถูกนำมาตกแต่งรถให้เกิดความสวยงามด้วยแนวความคิดต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ภายนอกของรถซาเล้งเก็บของเก่าให้มีความเป็นมิตรมากขึ้น

 เพราะฉะนั้น การสานต่อให้เกิดกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากศักยภาพของซาเล้งเก็บขยะและของเก่าที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพ ทั้ง 3 หน่วยงานที่จับมือกันทำโครงการครั้งนี้ น่าจะทำเพิ่มเติมในเฟสที่ 2 ซึ่งหมายความว่ากรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพหลักในการทำสำมะโนรถซาเล้งในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพื่อให้เข้าโครงการปรับปรุงรถซาเล้งให้มีมาตรฐานและดีไซน์ที่สวยงาม รวมถึงจัดการอบรมถึงการเก็บและแยกขยะอย่างถูกวิธี พร้อมกับการมอบป้ายตัวใหญ่ๆ ให้กับซาเล้งที่ได้มาตรฐาน

 ส่วนเรื่องการออกแบบตกแต่งก็ใช้ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาช่วยทำให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งคนกรุงเทพฯ จะได้รู้ว่าซาเล้งที่ได้รับการการันตีคุณภาพในการแยกขยะจาก กทม. มีรูปแบบอย่างนี้ มีการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะสร้างความสบายใจให้กับคนในภาคครัวเรือนที่จะให้ซาเล้งมาทำการจัดเก็บและแยกขยะหน้าบ้านได้สะดวกใจ

 น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหน่วยจุลภาคในการช่วยเก็บและแยกขยะเพื่อแบ่งเบาภาระของพนักงานและรถขยะ กทม. ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยในระบบบริหารการจัดการก็ต้องค่อยๆ ระดมสมองกันต่อยาวๆ ว่าการเก็บขยะแบบไหนเหมาะกับสังคมไทยและคนที่อยู่ในวงจรการเก็บแยกกำจัดขยะมากที่สุดกันต่อไป