posttoday

"กลุ่มเพื่อนแม่น้ำ" ตั้งคำถาม กทม.อ้าง "แผนแม่บทไม่สมบูรณ์" กรณีสะพานคนข้ามศิริราช-ท่าพระจันทร์

19 กรกฎาคม 2560

Friends of the River เผยแพร่ข้อสังเกต 8 ข้อ ถึง กทม. ต่อกรณีสะพานคนข้ามบริเวณศิริราช-ท่าพระจันทร์ ชี้กล่าวอ้างแผนแม่บทที่ไม่สมบูรณ์และยังไม่ได้รับการอนุมัติ

Friends of the River เผยแพร่ข้อสังเกต 8 ข้อ ถึง กทม. ต่อกรณีสะพานคนข้ามบริเวณศิริราช-ท่าพระจันทร์ ชี้กล่าวอ้างแผนแม่บทที่ไม่สมบูรณ์และยังไม่ได้รับการอนุมัติ

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เฟซบุ๊กเพจ Friends of the River กลุ่มเพื่อนแม่น้ำ เผยแพร่ข้อสังเกตถึง กทม. ต่อกรณีสะพานคนข้ามบริเวณศิริราช-ท่าพระจันทร์

เนื้อหาทั้งหมดระบุดังนี้  

1. แผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดย กทม. ไม่ได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่าง"ครบถ้วน"ในช่วงการจัดทำประชาพิจารณ์ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ที่สำคัญไม่มีการชี้แจงถึงการจัดทำสะพานคนข้ามบริเวณ ศิริราช-ท่าพระจันทร์

2. กทม. "ไม่เปิดเผย"แผนแม่บทขั้นสุดท้ายต่อสังคมภายหลังจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและภายหลังรับมอบงานจากผู้ศึกษาคือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่น

3. แผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายัง "ไม่ผ่านการอนุมัติ" จากหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล เช่น คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากร สผ...โดยมีการให้ความเห็นถึง "การขาดเนื้อหาสาระที่เป็นประเด็นสำคัญ" ของแผนแม่บทรวมถึง "ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน"

4. เหตุใด กทม. "กล่าวอ้าง"แผนแม่บทที่"ไม่สมบูรณ์"และยังไม่ได้รับการอนุมัติ มาเดินหน้าโครงการในการกำกับดูแล เพื่อก่อสร้าง สะพานคนข้ามบริเวณ ศิริราช-ท่าพระจันทร์ นี้ เป็นการผิดขั้นตอนของการดำเนินงานหรือไม่?

5. กทม เคยทำการศึกษาความเป็นไปได้ต่อการยื่นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่วงเกาะรัตนโกสินทร์ต่อUnesco เพื่อเป็นมรดกโลก เหตุใดนโยบายนั้นไม่ถูกนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

6. ทำไมจึงมีการอนุมัติใช้งบจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาสะพานนี้ถึง 50 ล้าน ทั้งๆที่แผนแม่บทยังไม่ได้รับการอนุมัติ หรือโครงการนี้มาก่อนแผนแม่บทและเป็นความพยายามที่จะผลักดันให้สะพานคนข้ามนี้บรรจุอยู่ในแผนแม่บทให้ได้เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างในท้ายที่สุด

7. การให้ข้อมูลด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการสร้างสะพานคนข้ามตรงจุดนี้นั้น ดูจะเป็นข้อมูล"ผลดีด้านเดียว" ที่อาจส่ง"ผลดีในระยะสั้นๆ"ช่วงการก่อสร้างและภายหลังการเปิดใช้งานไม่กี่ปี แต่ กทม เคยมองถึงความคุ้มทุนและคุ้มค่าใน"ระยะยาว"หรือไม่ เมื่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของภูมิทัศน์บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ต้องสูญเสียไป และอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่กลับมาเยือนอีก ที่สำคัญเราสูญเสียโอกาสที่จะขึ้นทะเบียนแม่น้ำเจ้าพระยาและเกาะรัตนโกสินทร์เป็นมรดกโลกอันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าการมีสะพานคนข้ามตรงจุดนี้หลายเท่านัก

แต่สิ่งนี้คงเทียบไม่ได้กับ "คุณค่า" ที่เมืองจะสูญเสียไปจากการพัฒนาที่ทำลายประวัติศาสตร์เราเอง อันประเมินค่ามิได้

8. เมื่อใดการพัฒนาแบบนี้จะยุติ การพัฒนาที่ไม่จำเป็น การพัฒนาที่เสียงบประมาณทำแผนซึ่งไม่เคยบูรณาการและบังคับใช้ไม่ได้จริง การพัฒนาที่มีธง การพัฒนาที่การรับฟังความคิดเห็นเป็นแค่พิธีกรรม

สังคมกำลังปฏิเสธการพัฒนาแบบนั้น เพราะเราต้องการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาที่ยังประโยชน์ เป็นธรรมและยั่งยืน การพัฒนาที่โปร่งใส มีส่วนร่วมและใช้องค์ความรู้เป็นกลไกในการพัฒนา

"การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่ทิ้งอะไรและใครไว้ข้างหลัง อยู่ที่ไหนครับ"